คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2402/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หญิงยิงชายเพราะมีอารมณ์รุนแรง ถูกชายด่าเกิดโทสะจนขาดความยั้งคิด ใช้ปืนซึ่งศึกษาวิธีใช้ทดลองยิงในวันนั้น ยิงชาย ไม่เป็นเหตุตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 7 ปี 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 78 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลย 2 ปี 6 เดือน ตามมาตรา 288, 65 วรรคสอง จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์กล่าวหา จำเลยได้ใช้ปืนยิงพันโทปราโมทย์ พิชญโยธิน หลายนัดเป็นเหตุให้พันโทปราโมทย์ พิชญโยธินได้รับอันตรายแก่กายหลายแห่ง และถึงแก่ความตายดังปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ท้ายฟ้อง อันเป็นการกระทำผิดตามฟ้อง

มีข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยยิงพันโทปราโมทย์ พิชญโยธินในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบและไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องเนื่องจากเป็นโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน อันจำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรกหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า พันเอกนายแพทย์ อมฤต ณ สงขลา และพันตรีนายแพทย์สมประสงค์ ศุภวิทย์ ลงความเห็นว่าจำเลยเป็นโรคจิตนั้น เห็นว่าพันเอกนายแพทย์อมฤต ซึ่งเป็นผู้ตรวจรักษาจำเลยในวันที่ 8 สิงหาคม 2519 อันเป็นวันเกิดเหตุคดีนี้ เบิกความแต่เพียงว่าจำเลยมีอาการจิตใจไม่ปกติ จึงเป็นโรคประสาทชนิดรุนแรงเท่านั้นเอง สำหรับพันตรีนายแพทย์สมประสงค์ ซึ่งเบิกความว่าจำเลยเป็นโรคจิตชนิดแรงอาจทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัวเพราะความหวาดกลัวความระแวงทำให้ทำร้ายคนอื่นได้ ก็ปรากฏว่านายแพทย์ผู้นี้ซึ่งเข้าเกี่ยวข้องตรวจรักษาจำเลยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2519 หาได้ยืนยันรับรองว่าในวันเกิดเหตุโดยเฉพาะในขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาการดังพยานเบิกความไม่ ปรากฏในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย ซึ่งโจทก์ส่งศาลรวมสำนวนอยู่ตามลำดับสารบัญเลขที่ 43 และจำเลยรับว่าเป็นคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยจริงว่า ชีวิตสมรสของจำเลยและผู้ตายไม่ราบรื่น ต่างฝ่ายต่างระแวงหึงหวงกัน โดยผู้ตายว่าจำเลยมีชู้ จำเลยระแวงว่าผู้ตายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้หญิงอื่น มีเหตุทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่อยมา จนถึงกับได้จดทะเบียนหย่ากัน แต่หลังจากหย่ากันแล้ว จำเลยซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครก็ยังคงไปมาหาสู่ผู้ตายซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาอยู่เสมอมาก่อนจะเกิดเหตุจำเลยไปหาผู้ตายอีก ในวันเกิดเหตุ จำเลยบอกผู้ตายว่าจะกลับกรุงเทพมหานคร ขอยืมอาวุธปืนที่จำเลยใช้ยิงผู้ตายจากผู้ตายว่าจะนำติดไปป้องกันตัวในการเดินทาง แล้วจำเลยได้ไปศึกษาวิธีใช้ปืนนั้นกับสิบเอกพีรยุทธบุตรไชย เมื่อสิบเอกพีรยุทธแนะนำให้ จำเลยก็ทดลองยิงดู 1 นัด แล้วกลับไปบ้านผู้ตาย ผู้ตายด่าว่าจำเลยว่า จำเลยไม่ยอมกลับกรุงเทพมหานครเพราะจะคอยจับผิดผู้ตายและด่าว่าอย่างเสีย ๆ หาย ๆ จนจำเลยทนไม่ไหว ต่อจากนั้นจึงเกิดการยิงกันขึ้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยซึ่งเป็นคนมีอารมณ์รุนแรงและมีความไม่พอใจผู้ตายเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อถูกผู้ตายด่าว่าเอาดังที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนก็เกิดโทสะขึ้นอย่างรุนแรง จนขาดความยั้งคิดใช้ปืนซึ่งได้ศึกษาวิธียิงมาแล้วยิงผู้ตายด้วยอำนาจแห่งโทสะจริตนั้นเท่านั้นเอง หาใช่เป็นการกระทำไปในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องเนื่องจากเป็นโรคจิต อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคแรก ดังที่จำเลยฎีกามาไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและพิพากษาวางโทษเป็นผลดีแก่จำเลยมากอยู่แล้ว”

พิพากษายืน

Share