คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2221/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สามีของเจ้ามรดกจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ภริยาซึ่งเป็นเจ้ามรดกยินยอมด้วย บุตรบุญธรรมมีฐานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีเจ้ามรดกเท่านั้น ไม่มีสิทธิร้องคัดค้านขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก

ย่อยาว

สามีจดทะเบียนรับผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรม ภริยาซึ่งเป็นเจ้ามรดกยินยอมด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก และยกคำร้องศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้จากพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนางสมพร ทองบุญ เจ้ามรดก ข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมของนายพ่วง ทองบุญ และนางสมพรทองบุญ เจ้ามรดกนั้น ปรากฏตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมหมาย ล.1พยานของผู้คัดค้านว่านายพ่วง ทองบุญ ผู้เดียวเป็นผู้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรม นางสมพร ทองบุญ เป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมในฐานเป็นคู่สมรสของนายพ่วง ทองบุญ เท่านั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นบุตรบุญธรรมของนายพ่วงทองบุญ ผู้เดียว มิใช่บุตรบุญธรรมของนางสมพร ทองบุญ เจ้ามรดก ไม่อยู่ในฐานะซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสมพร ทองบุญ เจ้ามรดก (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627) ไม่มีสิทธิรับมรดกของนางสมพร ทองบุญ เมื่อผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในกองมรดกก็ไม่มีสิทธิคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางสมพร ทองบุญ”

พิพากษายืน

Share