แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บิดาผู้เยาว์ซึ่งอยู่กินเป็นสามีภริยากับมารดาผู้เยาว์ภายหลังวันให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย และมิได้จดทะเบียนว่าผู้เยาว์เป็นบุตร หรือศาลได้พิพากษาว่าเป็นบุตร ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) และปัญหาอำนาจฟ้องในกรณีนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้จำเลยจะมิได้ต่อสู้ในข้อนี้ไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องคดีในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวลิ้นจี่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ กล่าวหาจำเลยในข้อหาฐานพรากนางสาวลิ้นจี่ซึ่งมีอายุกว่า 13 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปีไปจากโจทก์และนางเสงี่ยมผู้เป็นบิดามารดาและในข้อหาฐานพาไปเพื่อการอนาจารและข้อหาฐานกระทำชำเราผู้เสียหายดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276,284, 318
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 และ 284 ขาดอายุความ และข้อเท็จจริงในทางพิจารณาไม่เป็นความผิดตามมาตรา 318 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 หรือไม่
ศาลฎีกาหยิบยกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายของโจทก์ผู้เป็นบิดาขึ้นพิจารณา ซึ่งได้ความว่านายทองดีโจทก์อยู่กินเป็นสามีภริยากับนางเสงี่ยมมารดาผู้เสียหายมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเกิดบุตรด้วยกันระหว่างอยู่กินคือ นางสาวลิ้นจี่ซึ่งมีอายุ 14 ปีขณะยื่นฟ้องไม่ปรากฏว่านายทองดีได้จดทะเบียนว่านางสาวลิ้นจี่เป็นบุตรหรือศาลได้พิพากษาเป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ขณะยื่นฟ้องนางสาวลิ้นจี่จึงมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของนายทองดีซึ่งจะมีอำนาจฟ้องแทนได้ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1538(5) อำนาจปกครองในกรณีเช่นนี้ย่อมตกอยู่แก่มารดา และอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อ้าง ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อนายทองดีไม่มีอำนาจฟ้องแทนผู้เสียหาย คดีจึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ต่อไปพิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้องโจทก์