แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สามีเอาที่ดินสินสมรสไปจำนองธนาคารเอาเงินไปปรนเปรอภริยาน้อยหนี้นี้ไม่เป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1482(1) ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
สามีแพ้คดีที่ภริยาฟ้องหย่าโดยเหตุที่สามีต้องรับผิดฝ่ายเดียว ภริยาไม่มีรายได้ สามีต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฐานะของภริยา และความสามารถของสามี ตามมาตรา 1506, 1508 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากสามีภริยากัน ให้แบ่งสินสมรสขายทอดตลาดที่ดินใช้หนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ขายรถยนต์แบ่งเงินคนละครึ่ง ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 300 บาทจนกว่าจะสมรสใหม่ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า (1) หนี้ 90,000บาทเศษ ที่จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร โดยเอาที่ดินสินสมรส 2 แปลงจำนองเป็นประกันหนี้นั้นเป็นหนี้ร่วมหรือไม่ (2) จำเลยจะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์หรือไม่
ปัญหาข้อแรก จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีรายได้ไม่พอใช้จ่าย ได้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารมาใช้จ่ายในครอบครัว เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์กับบุตรและให้การศึกษาแก่บุตร หนี้ธนาคารดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมซึ่งโจทก์และจำเลยจะต้องรับผิดร่วมกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ได้ความว่าตอนแต่งงานจำเลยออกจากครูไปเป็นผู้จัดการฝ่ายขายที่บริษัทหาญเอนจิเนียริ่งจำกัด ได้เงินเดือนประมาณเดือนละ 4,000 บาท ทำงานอยู่ 2 ปี แล้วจำเลยลาออกไปทำงานที่สำนักงานสยามทนายความ มีรายได้ประมาณเดือนละ5,000 – 6,000 บาท ค่าใช้จ่ายในครอบครัวในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งขณะนั้นมีบุตร4 คนแล้วตกประมาณเดือนละ 4,000 บาท ตามพยานหลักฐานของจำเลยได้ความว่า จำเลยเพิ่งไปเปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเริ่มแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา แสดงว่าก่อนหน้าจะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้น จำเลยมีรายได้จากการทำงานเพียงพอที่จะใช้จ่ายอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตรตลอดจนค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรได้ ที่จำเลยอ้างว่ามีรายได้ประมาณเดือนละ 2,000 บาทไม่มีน้ำหนักจะรับฟัง และตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.2 ในช่องเจ้าหนี้ ปรากฏว่าบางเดือนจำเลยนำเงินเข้าบัญชีครั้งละหลายหมื่นบาท รวมทั้งเดือนไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทก็มี ซึ่งแสดงว่าจำเลยมีรายได้จากการทำงานน่าจะมากกว่าจำนวนเงินรายได้ที่โจทก์ประมาณเสียอีก นอกจากนี้ข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเอาเงินที่เบิกจากธนาคารไปเที่ยวไนท์คลับและพานางกัลยาภริยาน้อยไปเที่ยวปีนังกับสิงค์โปร์ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ทั้งจำเลยเอาเงินไปปลูกบ้านให้นางกัลยาที่จังหวัดปราจีนบุรี ข้อนี้จำเลยมิได้นำสืบปฏิเสธแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงเชื่อว่าที่จำเลยเอาที่ดินสินสมรส2 แปลงไปจำนองธนาคารเป็นประกันสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้น ได้เบิกเงินจากธนาคารเอาไปใช้จ่ายเป็นส่วนตัว และปรนเปรอกับปลูกบ้านให้นางกัลยาภริยาคนใหม่ หาใช่นำเงินมาใช้จ่ายอุปการะเลี้ยงดูโจทก์กับบุตรและให้การศึกษาแก่บุตรดังที่จำเลยอ้างไม่ ดังนี้หนี้ 90,000 บาทเศษที่จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารจึงไม่ใช่หนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482(1)ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นอันโจทก์จะต้องร่วมรับผิดใช้หนี้ด้วย จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขอให้หักหนี้ดังกล่าวออกจากสินสมรส
ส่วนปัญหาข้อสอง จำเลยจะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน โดยเหตุที่จำเลยไปจดทะเบียนกับหญิงอื่น และไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควร ซึ่งการกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงจำเลยเป็นผู้ต้องรับผิดแต่ฝ่ายเดียว และปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพ จำเลยจะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้สมรสใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1506, 1508 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อคำนึงถึงฐานะของโจทก์และความสามารถในการหารายได้ของจำเลยแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ300 บาท ก็เป็นจำนวนพอสมควรและไม่เกินความสามารถของจำเลย”
พิพากษายืน