แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ช.เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เมื่อ ช.ถึงแก่กรรม ห้างน.ย่อมเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1055(5),1080 เว้นแต่จะมีผู้รับมรดกของ ช.เข้าสวมสิทธิในหุ้นส่วนนั้นดำเนินกิจการต่อไปตามเดิม (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 539/2518) และเมื่อห้าง น.เลิกกันก็ต้องตั้งผู้ชำระบัญชีสะสางการงานของห้าง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 351/2507) ในกรณีนี้ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับกิจการของห้างทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาตามมาตรา 1259(1)
เมื่อ ช.ถึงแก่กรรมและโจทก์ได้เป็นผู้จัดการมรดกของช.ตามคำสั่งของศาลแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินจึงได้มีคำสั่งประเมินภาษีเงินได้ของห้างน.สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ช.ถึงแก่กรรม แล้วแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. และผู้ชำระบัญชีของห้าง น.ให้ชำระภาษีเงินได้ของห้างเพิ่มดังนี้ คำสั่งดังกล่าวเป็นการประเมินภาษีเงินได้ของห้าง น.ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจาก ช. จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิกองมรดกของ ช. แต่เป็นการโต้แย้งสิทธิของห้าง น. โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช.ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4
ประมวลรัษฎากรมาตรา 18 ซึ่งบัญญัติถึงกรณีผู้ต้องเสียภาษีอากรถึงแก่ความตายเสียก่อน ให้แจ้งจำนวนภาษีที่ประเมินไปยังผู้จัดการมรดกหรือทายาท ผู้หรือผู้ครอบครองมรดกนั้นจะนำมาใช้บังคับในกรณีตามวรรคก่อนไม่ได้ เพราะกรณีตามวรรคก่อนห้าง น.เป็นผู้ต้องเสียภาษีอากรหาใช่ ช.ไม่ และแม้จำเลยที่ 1 จะแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินของห้าง น.ไปยังโจทก์ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ยอมรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิกองมรดกของ ช. อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายชูศักดิ์ ก่อนนายชูศักดิ์ตายนายชูศักดิ์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพนมเลี่ยงกี่สโตร์ จำเลยที่ 1ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากห้างฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คือ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ซึ่งมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้ศาลพิพากษายกเลิกเพิกถอน
จำเลยให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และหากโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายชูศักดิ์ก็เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างโจทก์กับนายชูศักดิ์ไม่เกี่ยวกับห้างฯ โจทก์ไม่ใช่ผู้แทนของห้างฯ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันบางประการ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง การประเมินภาษีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพนมเลี่ยงกี่สโตร์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อ พ.ศ. 2511 นายชูศักดิ์เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายชูศักดิ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2516 เห็นว่า เมื่อนายชูศักดิ์หุ้นส่วนผู้จัดการถึงแก่กรรมห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพนมเลี่ยงกี่สโตร์ เป็นอันยกเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055(5), มาตรา 1080 เว้นแต่จะมีผู้รับมรดกของนายชูศักดิ์เข้าสวมสิทธิในหุ้นส่วนนั้นดำเนินกิจการต่อไปตามเดิมเทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 539/2518 ระหว่างพันตรีโสภณ เกิดนุ่ม โจทก์ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลอู่กรุงธนกับพวก จำเลย และเมื่อห้างฯ เลิกกันก็ต้องตั้งผู้ชำระบัญชีสะสางการงานของห้างตามคำพิพากษาฎีกาที่ 351/2507 คดีระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ กรรมการโจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสี่ชัย โดยนายซ่งเกียง แซ่อื้อ ผู้จัดการจำเลย ในกรณีนี้ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับกิจการของห้างฯ ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259(1) หนี้ภาษีอากรรายพิพาทเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพนมเลี่ยงกี่สโตร์ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมิใช่เป็นหนี้ส่วนตัวของนายชูศักดิ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่มีไปถึงโจทก์เป็นคำสั่งที่ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพนมเลี่ยงกี่สโตร์ชำระภาษีอากร ดังนี้ แม้นายชูศักดิ์จะเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของห้างฯ และกองมรดกของนายชูศักดิ์อาจต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ ก็ตามแต่คำสั่งดังกล่าวก็เป็นการประเมินภาษีอากรของห้างฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากนายชูศักดิ์ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของกองมรดกนายชูศักดิ์ หากแต่เป็นการโต้แย้งสิทธิของห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพนมเลี่ยงกี่สโตร์ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกนายชูศักดิ์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่โจทก์ฎีกาว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 18 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2483มาตรา 3 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรถึงแก่ความตายเสียก่อนได้รับแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินให้อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังผู้จัดการมรดกหรือไปยังทายาท หรือผู้อื่นที่ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณีฯ” จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินไปยังโจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ยอมรับอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งยกอุทธรณ์ถือว่า โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธินั้น เห็นว่ากรณีนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพนมเลี่ยงกี่สโตร์ต่างหากเป็นผู้ต้องเสียภาษีอากรหาใช่นายชูศักดิ์ผู้ตายไม่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชูศักดิ์ยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรดังกล่าว จะนำบทบัญญัติมาตรา 18 ที่แก้ไขแล้วมาใช้บังคับไม่ได้ แม้จำเลยที่ 1จะมีหนังสือแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินของห้างหุ้นส่วนจำกัดนครพนมเลี่ยงกี่สโตร์ไปยังโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ยอมรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ โดยมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิกองมรดกของนายชูศักดิ์อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อที่ว่า คำสั่งประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน