คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าที่ดินแล้วโจทก์ฟ้องขับไล่ จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมที่ให้จำเลยเช่าโดยรู้อยู่แล้วว่าเจ้าของที่ดินรับมัดจำจะขายที่ดินแก่จำเลยก่อนแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งขอเพิกถอนการขาย และเจ้าของเดิมก็มิได้เข้ามาในคดี ดังนี้ ศาลไม่ต้องพิจารณาข้อต่อสู้นี้ และจำเลยต้องออกจากที่ดินที่เช่า

ย่อยาว

โจทก์ซื้อที่ดินจาก ถ. จำเลยเช่าที่ดินนี้อยู่ จำเลยอ้างว่าได้ให้บุตรจำเลยซึ่งเป็นคนไทยทำสัญญาจะซื้อที่ดินนี้กับ ถ. อยู่ระหว่างผ่อนชำระราคา โจทก์ซื้อที่ดินโดยรู้ว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาขับไล่จำเลย กับให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาว่า ชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งการฟ้องข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น โจทก์ไม่เห็นด้วย ชั้นฎีกาจำเลยก็ฎีกาดังเช่นอุทธรณ์โจทก์จึงขอคัดค้าน คำแก้ฎีกาดังกล่าวอ้านเข้าใจยาก แต่เมื่อพิจารณาคำแก้อุทธรณ์ประกอบก็เห็นความมุ่งหมายของโจทก์ว่า โจทก์เห็นว่าคดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224

ศาลฎีกาเห็นว่าชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่นั้น จำต้องให้คู่ความนำพยานหลักฐานเข้าสืบการที่ศาลพิพากษาคดีโดยงดสืบพยานโดยสิ้นเชิง จำเลยจึงไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้และขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาสืบพยานตามข้อต่อสู้ของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ เท่ากับจำเลยอุทธรณ์ว่าการที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานเป็นการไม่ชอบ เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายดังความเห็นของศาลอุทธรณ์คำแก้ฎีกาของโจทก์จึงตกไป

จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยให้การชัดแจ้งว่า ก่อนวันที่โจทก์ซื้อที่ดินและห้องพิพาทจากนายถาวร แสนสุข โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่านายถาวร แสนสุขได้ขายห้องแถวและที่ดินพิพาทให้จำเลยไปก่อนแล้ว โจทก์รู้ว่าที่โจทก์ซื้อห้องแถวและที่ดินพิพาทจะเป็นทางให้จำเลยเสียเปรียบ โจทก์สมคบกับนายถาวร แสนสุขทำหลักฐานซื้อขายห้องแถวและที่ดินพิพาทในราคา 360,000 บาท ต่ำกว่าราคาท้องตลาดมาก เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเป็นการฉ้อโกงหรือฉ้อฉลจำเลย ทำให้จำเลยเสียเปรียบเสียหาย จำเลยมีสิทธิขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ฯลฯ การที่ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่นั้น จำต้องให้คู่ความนำพยานหลักฐานเข้าสืบ

ศาลฎีกาเห็นว่า นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบอันเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 นั้น เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์เป็นแต่กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลให้เพิกถอนเสียได้ในเมื่อมีกรณีต้องตามที่บัญญัติไว้ เมื่อจำเลยให้การว่านิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายถาวร แสนสุข อยู่ในลักษณะที่จำเลยจะขอให้เพิกถอนเสียได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่มิได้ฟ้องแย้งขอให้ศาลสั่งเพิกถอนนิติกรรมนั้น และนายถาวร แสนสุข ก็มิได้เข้ามาในคดีด้วย ศาลจะสั่งเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับนายถาวร แสนสุข ในคดีนี้ไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานต่อไปคำพิพากษาฎีกาที่ 90/2516 ที่จำเลยอ้างในคำให้การและฎีกานั้น เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเช่าบ้านจากโจทก์และค้างชำระค่าเช่า ซึ่งศาลฎีกาฟังว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริง จึงวินิจฉัยว่าการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์(ขอให้ขับไล่จำเลย) เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จะขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากทรัพย์พิพาทหาได้ไม่ ทั้งยังได้วินิจฉัยต่อไปว่าคดีที่จำเลยฟ้องแย้ง โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 นั้น ศาลมิอาจให้เพิกถอนนิติกรรมการโอน โดยจำเลยมิได้ฟ้องผู้โอนเข้ามาในคดีด้วยแต่คดีนี้โจทก์อ้างว่าสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับนายถาวร แสนสุขเจ้าของเดิมผู้ขายที่ดินและห้องพิพาทให้โจทก์สิ้นอายุลงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2519โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากห้องพิพาทตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2518จำเลยไม่ออกไป จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งทั้งยังอุทธรณ์ฎีกาโดยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 เห็นได้ว่าสัญญาเช่าระหว่างจำเลยและนายถาวร แสนสุข ระงับไปแล้วจริงตามที่โจทก์ฟ้อง อย่างไรก็ดีข้อที่จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาว่า จำเลยยังคงครองทรัพย์สินที่เช่าอยู่ต่อมาต้องถือว่าเป็นการเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 570 โจทก์ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขแห่งมาตรา 566 นั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จะยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 100 บาท”

Share