คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างว่ารับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ มีแต่แบบพิมพ์การโอนซึ่งผู้เช่าซื้อลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความโจทก์ไม่ใช่เจ้าของและไม่ใช่ผู้เช่าซื้อ ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะรถยนต์ถูกชน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 30,000 บาทแก่โจทก์ เพราะละเมิดทำให้รถยนต์พิพาทเสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยืนยันในฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ แต่ปรากฏหลักฐานตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2สัญญาเช่าซื้อฉบับดังกล่าวกำหนดว่าบริษัท เอส.เอ็ม. ทรัสต์ จำกัด เป็นผู้ให้เช่าซื้อซึ่งต่อไปนี้เรียกว่าเจ้าของฝ่ายหนึ่ง กับนายดิเรก สุวรรณทัต ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่าผู้เช่าซื้ออีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ตอนแรกจึงเป็นสัญญาเช่าซื้อระหว่างบริษัทผู้เป็นเจ้าของกับนายดิเรก สุวรรณทัต ต่อมานายดิเรก สุวรรณทัต โอนสิทธิสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายเฉลิมพล สถาพรสมบัติ โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือกรอกข้อความในแบบพิมพ์โดยครบถ้วนบริบูรณ์ ทั้งมีข้อความสำคัญว่าบริษัทเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อยินยอมอนุมัติการโอนรายนี้ แล้วมีการลงชื่อผู้อนุมัติด้วย ตามเอกสารหมาย จ.3 ครั้นนายเฉลิมพล สถาพรสมบัติ โอนให้แก่นายประจวบ สามชัยวัฒนา ก็ได้ปฏิบัติโดยทำหลักฐานเป็นหนังสือกรอกข้อความในแบบพิมพ์และบริษัทได้อนุมัติการโอนรายนี้โดยถูกต้องบริบูรณ์เช่นเดียวกัน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 แสดงว่าในตอนแรก ๆ นั้นคู่สัญญาคือบริษัทผู้เป็นเจ้าของได้กลายเป็นคู่สัญญากับผู้รับโอนอันเป็นสัญญาเช่าซื้อที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ครั้นเมื่อนายประจวบ สามชัยวัฒนา โอนให้แก่โจทก์นั้น หาได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับรายก่อน ๆ ไม่ กล่าวคือ ในหนังสือโอนสัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.5คงมีแต่แบบพิมพ์เปล่า ๆ เว้นข้อความต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด มิได้กรอกข้อความให้ฟังได้ว่ามีการโอน และบริษัทผู้เป็นเจ้าของได้ยินยอมแต่ประการใด คงมีแต่ลายมือชื่อนายประจวบ สามชัยวัฒนา ลงชื่อไว้ในช่องผู้โอนแต่ลำพังผู้เดียวเท่านั้น ในช่องผู้รับโอนก็ดี ในช่องผู้อนุมัติให้โอนได้ก็ดี มิได้มีการลงชื่อผู้ใดเลย แสดงว่าบริษัทผู้เป็นเจ้าของและผู้ให้เช่าซื้อยัง มิได้ทราบเรื่องหรือยินยอมให้มีการเช่าซื้อจากนายประจวบ สามชัยวัฒนา ไปยังโจทก์ แม้โจทก์จะส่งเงินให้แก่บริษัทผู้เป็นเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อรวม 5 ครั้ง แต่ก็ปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.6ถึง จ.8 นั้นเป็นใบเสร็จรับเงินที่บริษัทเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อได้ออกให้แก่นายประจวบสามชัยวัฒนา และใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 เป็นใบเสร็จที่ออกให้แก่นายเฉลิมพล สถาพรสมบัติ หาใช่ออกให้โจทก์ไม่ โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับบริษัทผู้เป็นเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อ โจทก์จึงมิใช่เจ้าของ และแม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะให้อำนาจผู้เช่าซื้อเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับตัวรถได้ โจทก์ก็มิใช่ผู้เช่าซื้อโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง”

Share