แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2527 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2527 ว่า จากการตรวจ สภาพอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2527 ปรากฏว่า คานคอนกรีตรองรับชั้นดาดฟ้าแตก ร้าวรวม 18 แห่ง ซึ่ง จำเลยทั้งสองได้ แจ้งให้โจทก์ทราบในวันเดียวกัน โจทก์ไม่ยอมรับผิดในงานที่ชำรุด บกพร่องดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงจ้าง ให้บุคคลภายนอกซ่อมแซม สิ้นค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 81,800 บาท จำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ต้อง รับผิดจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 258,490 บาท ข้อความที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเพิ่งทราบภายหลังจากการชี้สองสถานแล้ว ฉะนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งหลังจากชี้สองสถานแล้วได้ เพราะเป็นข้อที่จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องได้ ก่อนวันชี้สองสถาน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 180(2).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2526 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์ให้ทำการก่อสร้างอาคารบ้านพักอาศัยตามแบบแปลนบนที่ดินโฉนดเลขที่ 24106 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 35ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้ทำการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยตามสัญญาฉบับหลัง อันเป็นงานงวดที่5 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย โจทก์ได้มีหนังสือส่งมอบงานพร้อมทั้งขอรับค่าจ้างงวดสุดท้ายเฉพาะส่วนที่ค้างชำระอยู่เป็นเงิน 168,690 บาทจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงต้องเสียค่าปรับตามสัญญาเป็นเงินวันละ200 บาท นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2527 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อคิดถึงวันฟ้องเป็นค่าปรับ 5,600 บาท รวมกับค่าจ้างที่ค้างชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 174,290 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน174,290 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งให้ชำระค่าปรับในอัตราวันละ 200 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุที่จำเลยทั้งสองไม่รับมอบงานงวดที่ 5 เนื่องจากโจทก์ปลูกสร้างอาคารไม่เสร็จเรียบร้อยตามสัญญา จำเลยทั้งสองได้ทักท้วงและให้โจทก์ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมตามรายละเอียดท้ายฟ้องโดยโจทก์ตกลงว่าจะไม่คิดค่าตอบแทน เพราะจำเลยทั้งสองได้ลดงานก่อสร้างส่วนอื่นลง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชำระค่าก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นเงิน 36,090 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับเพราะโจทก์ผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2526 และจนบัดนี้ก็ยังไม่เรียบร้อย จำเลยทั้งสองจึงไม่ชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่โจทก์ การที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่นนี้ ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นเงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 258,490 บาท ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 258,490 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองขอหักกลบลบหนี้กับเงินค่าจ้างที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ในงวดที่ 5 บางส่วน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ได้ทำการก่อสร้างตามสัญญา และจำเลยทั้งสองได้รับมอบงานไปแล้ว ที่โจทก์ก่อสร้างล่าช้าไม่แล้วเสร็จส่งมอบตามกำหนดนั้นเพราะเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงทั่วกรุงเทพมหานครทำให้งานก่อสร้างต้องหยุดชะงัก จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเนื่องจากขาดรายได้จากการให้เช่าบ้านเลขที่ 747โจทก์ไม่เคยได้รับการทวงถามให้ชำระเงินดังกล่าว และฟ้องแย้งเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 4,090 บาท แก่จำเลยทั้งสอง คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน68,345 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งหลังจากชี้สองสถานแล้วนั้นเห็นว่า เมื่อศาลชี้สองสถานในวันที่ 18 มิถุนายน 2527 แล้วจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งว่าจากการตรวจสภาพอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2527 ปรากฏว่าคานคอนกรีตรองรับชั้นดาดฟ้าแตกร้าวรวม 18 แห่ง ซึ่งจำเลยทั้งสองได้แจ้งให้โจทก์ทราบในวันเดียวกันนั้น โจทก์ไม่ยอมรับผิดในงานที่ชำรุดบกพร่องดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงจ้างให้บุคคลภายนอกซ่อมแซม สิ้นค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน 81,800 บาท จำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 258,490 บาท ข้อความตามที่จำเลยทั้งสองขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเพิ่งทราบภายหลังจากการชี้สองสถานแล้ว ฉะนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งหลังจากชี้สองสถานแล้วได้ เพราะเป็นข้อที่จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องนั้นได้ก่อนวันชี้สองสถานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180(2)ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.