คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 349/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฝากทรัพย์ ซึ่งผู้ฝากเอาคืนไปใช้ทำบุญแล้วนำกลับมาฝากอีก เป็นการฝากใหม่ทุกปี จึงไม่ต้องคำนึงถึงอายุความเรียกทรัพย์คืน
จำเลยให้การอ้างอายุความได้ทรัพย์ตาม มาตรา1382 ศาลจะยกอายุความเรื่องฝากทรัพย์มาใช้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2483 โจทก์ได้ฝากสิ่งของต่าง ๆ ของโจทก์ตามบัญชีท้ายฟ้องรวมราคา 1,847 บาท ไว้กับจำเลย

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2498 เวลากลางวันจำเลยนี้ได้บังอาจมีเจตนาทุจริตคิดเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวมาของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ของจำเลยเสีย โดยโจทก์ไปขอของต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในวันสงกรานต์แต่จำเลยไม่ยอมให้ ครั้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2498 โจทก์ไปขอของต่าง ๆ คืน จำเลยปฏิเสธ

ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 314และขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,847 บาทแก่โจทก์

ศาลจังหวัดราชบุรีไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า จำเลยเถียงกรรมสิทธิ์ในทางแพ่ง ไม่แสดงว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตเบียดเบียนเอาทรัพย์ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาทางอาญา ให้หมายเรียกจำเลยมาพิจารณาในทางแพ่งต่อไป

ในทางแพ่งนี้ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นความเท็จความจริงโจทก์ไม่เคยฝากสิ่งของตามฟ้องไว้กับจำเลย ขณะโจทก์บวชเป็นพระภิกษุได้ส่งของต่าง ๆ หลายอย่างมาให้นายเชื่อม นางไข่ ซึ่งเป็นบิดามารดาโจทก์จำเลย

เมื่อ 10 กว่าปีมานี้ นางไข่มารดาจำเลยได้ให้ป้านน้ำจำเลย 3 ป้าน กะบะมุก 1 ใบ ถาดกระเบื้อง 1 ถาด หินบดยาพร้อมด้วยลูกบด 1 หิน โอลาว 1 ใบ พานทองเหลือง 2 ใบ แจกัน 2 คู่ โต๊ะหมู่ 1 โต๊ะ นาฬิกาปารีส 1 เรือน ตุ่ม 2 ตุ่ม แก่จำเลย กับมารดาจำเลยได้ฝากตู้ 2 ตู้ ซึ่งไม่มีหนังสือไว้กับจำเลย แต่จำเลยทราบว่าสิ่งที่มารดาให้จำเลย และตู้หนังสือซึ่งมารดาฝากไว้ เป็นของโจทก์ส่งมาให้บิดามารดาจำเลย

ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะสิ่งของที่มารดาจำเลยให้จำเลยดังกล่าวมาแล้ว จำเลยใช้สิทธิครอบครองเป็นเจ้าของเป็นเวลานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว ได้สิทธิตามกฎหมาย การที่โจทก์ฟ้องจำเลยนี้ก็โดยโจทก์จะเรียกเอาสิ่งของที่มารดาให้จำเลย ๆ ไม่ยอม โจทก์จึงแกล้งฟ้อง

เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยสิ้นกระแสความในคดีแพ่งนี้แล้วศาลจังหวัดราชบุรีพิพากษาให้จำเลยส่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องคืนส่งไม่ได้ให้ใช้ราคาทรัพย์ตามที่โจทก์ตีราคาไว้ท้ายฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่า โจทก์ได้ฝากทรัพย์พิพาทกับจำเลย แต่ได้ฝากกับบิดามารดาตามเอกสาร ซึ่งโจทก์มีถึงบิดามารดาตามที่โจทก์จำเลยรับกัน และไม่เชื่อว่าโจทก์เคยไปเอาทรัพย์ที่จำเลยไปใช้ในการทำบุญทุกปี

อย่างไร ก็ดี แม้จะฟังว่า โจทก์ได้ฝากทรัพย์ที่ฟ้องแก่จำเลย ปรากฏว่าฝากไว้เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว การฝากไม่ได้มีกำหนดเวลาเรียกคืน เพราะฉะนั้น โจทก์เรียกคืนเมื่อใดก็ได้ การนับอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ฝาก และมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 ประกอบด้วยฎีกาที่ 350/2476 ระหว่างนายพุฒ โจทก์ นายเปล่ง จำเลย คดีโจทก์ขาดอายุความศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกาว่า

ก. ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ เพราะจำเลยเพิ่งจะดื้อใช้สิทธิไม่ยอมให้โจทก์นำของไปจากจำเลยเพื่อทำบุญตามปกติเมื่อปี พ.ศ. 2498 เท่านั้น

ข. จำเลยยกอายุความเรื่องใช้สิทธิครอบครองเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์แต่เพียงข้อเดียว หาได้มีเจตนาจะยกอายุความเรื่องฝากทรัพย์ขึ้นเป็นข้อยกฟ้องโจทก์ไม่

ค. ศาลอุทธรณ์ตีความหมายในเอกสารที่โจทก์เขียนถึงบิดามารดาไม่ถูก เพราะในเอกสารนั้นมีเพียงว่า “ขอให้พ่อแม่ช่วยเป็นธุระดูแลสิ่งของนั้น” เท่านั้น ไม่ใช่ฝาก

ง. โจทก์ฝากไว้กับจำเลย ๆ ครอบครองแทนโจทก์ แม้เกิน 10 ปีก็ไม่ขาดอายุความ

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้ ทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโจทก์เป็นพี่จำเลยเป็นน้อง บ้านเดิมโจทก์อยู่ที่คลองตาคด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โจทก์บวชอยู่ที่วัดพิชัยญาติ จังหวัดธนบุรี ประมาณ 20 พรรษาเศษ สอบไล่ได้เป็นเปรียญ 6 ประโยค ขณะบวชเป็นพระ เมื่อ พ.ศ. 2483 โจทก์ได้ส่งสิ่งของตามบัญชีท้ายฟ้องโดยทางรถไฟไปยังสถานีคลองตาคดแล้วมีผู้รับไปซึ่งจะเป็นบิดาโจทก์หรือจำเลยเอง จะได้วินิจฉัยข้างหน้า พ.ศ. 2486 โจทก์สึกจากพระสงกรานต์ พ.ศ. 2498 โจทก์ไปขอของบางอย่างตามบัญชีท้ายฟ้องเพื่อจะนำมาใช้ในการทำบุญสงกรานต์ จำเลยไม่ให้ โจทก์จึงนำคดีสู่ศาลฟ้องเรียกทรัพย์คืน

บ้านจำเลยอยู่ห่างสถานีคลองตาคดประมาณ 1 เส้น บ้านบิดามารดาโจทก์ห่างไปราว 20 หรือ 25 เส้น

โจทก์นำสืบว่า เมื่อ พ.ศ. 2483 ขณะที่โจทก์บวชเป็นพระโจทก์จะต้องออกจากวัดพิชัยญาติ จึงทำความตกลงกับจำเลยว่า จะส่งของมาฝากไว้เพื่อความสะดวก เพราะโจทก์มีที่ดินอยู่ใกล้ ๆ จำเลยจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน โจทก์ได้ส่งจดหมายถึงบิดามารดาฉบับหนึ่งบอกเรื่องส่งของมาไว้กับจำเลย และขอให้พ่อแม่ช่วยดูแลให้ด้วยตามจดหมายลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2483 ซึ่งเป็นจดหมายที่โจทก์จำเลยรับกันว่าถูกต้อง โจทก์ส่งสิ่งของตามบัญชีท้ายฟ้องมาให้จำเลย ๆ กับพรรคพวกได้รับเอาสิ่งของต่าง ๆ ตามบัญชีท้ายฟ้องมารักษาไว้ที่บ้านจำเลยจนกระทั่ง พ.ศ. 2486 โจทก์จึงสึกออกมา ขณะนั้นบิดามารดาตายหมดแล้ว แต่โจทก์ได้มาทำบุญยังบ้านบิดามารดาในเทศกาลสงกรานต์ทุกปี ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา โจทก์ไปเอาสิ่งของต่าง ๆ ที่ฝากจำเลยไว้มาใช้สอยเสร็จแล้วเอากลับคืนไปฝากไว้ยังบ้านจำเลยตามเดิมเพื่อรวบรวมไว้แห่งเดียวกัน สงกรานต์พ.ศ. 2498 โจทก์ไปเอาสิ่งของต่าง ๆ จะมาทำบุญตามเคย จำเลยไม่ยอมให้จึงไม่ได้ทำบุญประจำปี พ.ศ. 2498

จำเลยนำสืบแก้ว่า ไม่เคยรับฝากสิ่งของจากโจทก์เลย โจทก์ฝากสิ่งของต่าง ๆ ตามฟ้องไว้กับนายเชื่อม นางไข่บิดามารดาโจทก์จำเลยต่างหากสิ่งของบางอย่างตามคำให้การตกอยู่แก่จำเลย เพราะเมื่อพ.ศ. 2485 ภรรยาจำเลยตาย จำเลยขอยืมสิ่งของดังกล่าวมาแล้วจากมารดา เพื่อใช้สอยในการทำบุญ ขณะนั้นนายเชื่อมตายแล้ว สิ่งของตามบัญชีท้ายฟ้องเมื่อโจทก์ส่งมานายเชื่อม บิดาได้ให้จำเลยไปช่วยขน ได้นำไปไว้ที่บ้านบิดามารดาในวันนั้น เว้นแต่ตุ่ม 8 ใบกระถางมังกร 2 ใบ ตู้ 2 ตู้ เอาไว้ที่บ้านจำเลยเพราะมืดค่ำขนไม่ทันรุ่งขึ้นได้ขนไป เว้นแต่ตุ่ม 2 ใบซึ่งจำเลยขอนายเชื่อมไว้ นายเชื่อมฝากตู้ไว้ 2 ใบ

ของที่ขอยืมมาทำบุญ ๆ แล้วจำเลยขอจากแม่ ๆ เลยยกให้

โจทก์จำเลยนำสืบดังนี้ หนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2483 ที่โจทก์มีถึงบิดามารดาความว่า

ถึงโยม

ฉันได้ส่งวัตถุสิ่งของมาทั้งนี้นั้น หวังว่า โยมคงจะเอาเป็นธุระดูแลวัตถุสิ่งของนั้น ๆ ไม่ให้เป็นอันตรายสูญหาย ฯลฯ

ฉะนั้น จึงขอร้องมายังโยม โปรดช่วยเป็นธุระดูแลวัตถุสิ่งนั้นด้วย ซึ่งฉันจะได้ออกมาจัดการในเดือน 4 ข้างหน้า ฯลฯ

โดยความนับถือ

พระมหาสินโต

(ชื่อเดิมของโจทก์)

ตามความในหนังสือนี้ เห็นได้ว่า โจทก์เพียงแต่ขอร้องให้บิดามารดา”เป็นธุระดูแลวัตถุสิ่งของนั้นด้วย” กล่าวคือให้ช่วยดูแลสิ่งของที่ฝากมาเพื่อมิให้สูญ ไม่ใช่เป็นการให้ตามคำให้การของจำเลยเพราะโจทก์จะออกมาจัดการเองในเดือน 4

สิ่งของต่าง ๆ ที่โจทก์ฝากมา โจทก์จะฝากแก่บิดามารดาหรือแก่จำเลย เพราะถ้าฝากแก่บิดามารดาจะต้องยกฟ้องโจทก์ ถ้าฝากแก่จำเลย ๆ จะแพ้ความ

ตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์จะสึกจากพระจึงได้ส่งสิ่งของต่าง ๆ ล่วงหน้ามาไว้เป็นการเตรียมชีวิตเป็นฆราวาส สิ่งของเหล่านี้เป็นเครื่องใช้ประจำบ้าน ที่โจทก์ว่าเดิมที่ตั้งใจจะปลูกบ้านเรือนอยู่ในที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ จำเลย จึงมีมูลแห่งความจริงจำเลยกับพวกมีนายพลอย เหรียญฟูก ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับโจทก์จำเลย ได้ช่วยขนของจากสถานีคลองตาคดมายังบ้านจำเลย แต่ตอนนี้จำเลยแก้ว่า ได้ขนไปบ้านพ่อแม่โจทก์จำเลยทีเดียว เว้นแต่ของหนัก ๆใหญ่ ๆ เช่น ตุ่ม โอ่งมังกร และตู้หนังสือ ซึ่งขนไปในวันรุ่งขึ้นแต่ของบางอย่างที่ส่งมานี้ตามคำให้การของจำเลยตกอยู่แก่จำเลยคือ 1. ป้านน้ำร้อน 3 ป้าน 2. กะบะมุก 1 ใบ 3. ถาดกระเบื้อง 1 ถาด 4.หินบดยาพร้อมด้วยลูกบด 1 หิน 5.โอลาว 1 ใบ 6. พานทองเหลือง 2 ใบ 7. แจกัน 2 คู่ 8. โต๊ะหมู่ 1 โต๊ะ 9.นาฬิกาปารีส 1 เรือน 10. ตุ่ม 2 ตุ่ม ของเหล่านี้จำเลยอ้างว่า มารดายกให้แต่โจทก์นำสืบว่า แม้โจทก์จะอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ดี คราวสงกรานต์ทุก ๆ ปีโจทก์ได้มาทำบุญที่บ้านบิดามารดาของโจทก์ และได้นำของเหล่านี้จากบ้านจำเลยไปใช้ โจทก์มีพยานรู้เห็น ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบหักล้างจึงฟังได้ตามคำพยานโจทก์ว่า โจทก์ฝากของตามบัญชีท้ายฟ้องไว้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2483 ของบางสิ่งตามบัญชีท้ายฟ้อง โจทก์ไม่น่าจะนำไปใช้ในการทำบุญสงกรานต์ประจำปี เช่นหินบดยากระจกส่องหน้า 2 บาน นาฬิกาปารีส 2 เรือน ตู้กระจก 2 ใบ และตุ่มน้ำ 4 ใบ เพราะเป็นสิ่งของที่ไม่เกี่ยวแก่การทำบุญ และบางสิ่งใหญ่โตและหนักไม่สะดวกแก่การขนไปมา รวมความแล้ว โจทก์ฝากทรัพย์แก่จำเลยเป็นเวลาเกิน 10 ปี แต่บางสิ่งโจทก์นำมาใช้ทำบุญสงกรานต์ประจำปีแล้วกลับนำไปฝากจำเลยอีก เป็นการฝากกันใหม่ประจำปี เรื่องอายุความจึงไม่ต้องคำนึงถึง ส่วนบางอย่างที่โจทก์ไม่ได้นำมาใช้คงฝากอยู่แก่จำเลยตลอดมา เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น ตามคำให้การของจำเลย ๆ ว่า โจทก์ฝากแก่มารดาจำเลย ๆ ขอ มารดายกให้จำเลยใช้สิทธิครอบครองเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีได้สิทธิตามกฎหมายซึ่งหมายความว่า จำเลยยกอายุความครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ จำเลยหาได้อ้างอายุความเรื่องฝากทรัพย์ไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193 บัญญัติว่า “เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ท่านว่า ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้” ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 บัญญัติว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น หรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกอายุความเรื่องฝากทรัพย์ขึ้นเป็นประเด็นข้อต่อสู้จึงพิจารณาให้ไม่ได้แม้จะได้ความว่า โจทก์ฝากทรัพย์ไว้กับจำเลยเกินกว่า 10 ปี ส่วนในเรื่องครอบครองปรปักษ์นั้น จำเลยเพิ่งจะปฏิเสธสิทธิของโจทก์เมื่อสงกรานต์ พ.ศ. 2498 นี่เอง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้นให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา 175 บาทแทนโจทก์

Share