คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยสำแดงว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี และขอวางหนังสือค้ำประกันการชำระค่าอากรขาเข้า เมื่อครบกำหนดจำเลยมิได้นำสินค้ามาผลิตเพื่อส่งออก โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินค่าอากรมาชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงทวงถามไปยังธนาคาร ก. ผู้ค้ำประกันการชำระค่าอากรขาเข้าของจำเลย ซึ่งธนาคารได้นำเงินมาชำระตามที่ได้ค้ำประกันไว้ ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าสินค้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้า จึงคำนวณค่าภาษีอากรใหม่พร้อมเงินเพิ่มแต่การที่โจทก์นำเงินค้ำประกันไปหักชำระเงินเพิ่มก่อนนั้นไม่ชอบ เพราะเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา มิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าอากรเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ต้องได้รับปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 786,765.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าที่ต้องชำระเพิ่มจำนวน 690,145.53 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 690,145.53 บาท แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยนำเข้าสินค้าเคมีภัณฑ์เมททิล เมททาครีเลท จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาในราชอาณาจักรทางเรือ โดยสำแดงว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า และจำเลยได้แสดงความจำนงขอคืนภาษีอากรเจ้าพนักงานของโจทก์พอใจราคาสินค้าที่จำเลยสำแดง จึงให้จำเลยวางเงินประกันค่าภาษีอากร จำเลยได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด มาวางค้ำประกันการชำระค่าอากรขาเข้า ครั้นเมื่อครบกำหนด 1 ปี จำเลยมิได้นำสินค้ามาผลิตเพื่อส่งออก โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินมาชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงทวงถามไปยังธนาคารกรุงไทย จำกัด ธนาคารได้นำเงินมาชำระตามที่ได้ค้ำประกัน ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ได้ตรวจพบว่าสินค้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเจ้าพนักงานของโจทก์จึงคำนวณค่าภาษีอากรใหม่พร้อมเงินเพิ่ม โจทก์นำเงินค้ำประกันไปหักชำระเงินเพิ่มก่อน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินที่ผู้ค้ำกันนำมาชำระไปหักชำระหนี้ค่าอากรก่อน เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า เงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา มิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาใช่บทกฎหมายที่ใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ โจทก์ไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มค่าอากรก่อน กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าอากรเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ย่อมได้รับปลดเปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง ที่ศาลภาษีอากรกลางให้นำเงินประกันมาชำระค่าอากรก่อนชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share