แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้คำฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และทนายความไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ซึ่งต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งทนายโจทก์ที่ 1 ผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องเป็นทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วย อนุโลม ได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขข้อบกพร่องในคำฟ้องโจทก์แล้วจึงเป็นคำฟ้องที่ชอบ
เจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 เป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินอื่นจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัดเมื่อที่ดินของจำเลยที่ 1 แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 ไปก่อนแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 ที่เหลืออีกครั้งหนึ่ง ทำให้ที่ดินส่วนที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งสามใน เวลาต่อมาไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้โดยที่ดินนี้เดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกร้องเพื่อผ่านที่ดินเฉพาะแปลงที่แบ่งแยกในครั้งหลังสุดเพื่อออกสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโรงงานน้ำตาลทรายของจำเลยที่ 1 ที่ดินของโจทก์ทั้งสามตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1003 ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยที่ 1ได้ทำถนนราดยางกว้างประมาณ 15 เมตร ยาวประมาณ 500 เมตรในที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 15632, 15633 และ 3991ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านหน้าที่ดินของโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ได้นำเฟืองเหล็กมาวางขวางตลอดแนวเขตด้านหน้าที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่สามารถเข้าออกในที่ดินได้ ทางดังกล่าวเจ้าของเดิมและชาวบ้านทุกคนได้ใช้เข้าออกมากกว่า 10 ปี โดยจำเลยที่ 1ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน โจทก์ทั้งสามไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอื่นใดได้นอกจากทางพิพาทซึ่งเป็นถนนราดยางที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 และการใช้ทางของโจทก์ทั้งสามไม่ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเพิ่มขึ้น โจทก์ทั้งสามมีสิทธิใช้ทางดังกล่าวเป็นทางจำเป็นเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ ขอให้ศาลพิพากษาว่า ทางราดยางในที่ดินโฉนดเลขที่ 15632,15633 และ 3991 ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ยาวประมาณ 500 เมตร กว้างประมาณ 15 เมตร ตามฟ้องเป็นทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมหรือทางสาธารณะ หากจำเลยทั้งสี่เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ขอให้จำเลยทั้งสี่เคลื่อนย้ายเฟืองเหล็กที่นำมาปิดกั้นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เพราะจำเลยทั้งสี่ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ หรือมีข้อโต้แย้งใด ๆ กับโจทก์ทั้งสาม ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ทางที่จำเลยที่ 1 สร้างไว้มิใช่ทางจำเป็นหรือภารจำยอม เดิมที่ดินที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นเจ้าของนั้นมีเขตติดต่อทางสาธารณะประโยชน์ต่อมาเจ้าของเดิมได้แบ่งขายออกเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยทั้งหมด 14 แปลงรวมทั้งที่ดินของโจทก์ทั้งสามในคดีนี้ด้วยทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสามไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ โจทก์ทั้งสามชอบที่จะอ้างสิทธิออกสู่ทางสาธารณะเดิมผ่านที่ดินที่เจ้าของเดิมได้แบ่งขายออกมามิใช่อ้างสิทธิผ่านทางที่จำเลยที่ 1 สร้างไว้ โจทก์ทั้งสามต้องฟ้องบังคับจากที่ดินแปลงอื่นที่แบ่งแยกจากที่ดินแปลงเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 โจทก์ทั้งสามสามารถหาทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้ทางที่จำเลยที่ 1 สร้างไว้ จึงมิใช่ทางจำเป็นหรือภารจำยอม ทางที่จำเลยที่ 1สร้างไว้เป็นทางส่วนบุคคลซึ่งจำเลยที่ 1 ได้สงวนสิทธิไว้ไม่เคยยอมให้บุคคลใดผ่านเข้าออก ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2538 อ้างว่า ช่องโจทก์และผู้เรียงพิมพ์ในคำขอท้ายฟ้องมีเพียงทนายโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ลงลายมือชื่อ ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3หรือทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอวินิจฉัยปัญหาตามคำร้องพร้อมกับคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางราดยางบนที่ดินโฉนดเลขที่ 15632และโฉนดเลขที่ 15633 กับโฉนดเลขที่ 3991 ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ยาวประมาณ 500 เมตร กว้างประมาณ8 ถึง 15 เมตร ตามฟ้องเป็นทางจำเป็นและให้จำเลยที่ 1 เคลื่อนย้ายเฟืองเหล็กที่นำมาปิดกั้นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ทั้งสาม คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1003ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตามเอกสารหมาย จ.1 คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15632, 15633 เอกสารหมาย จ.6, จ.7 ที่ดินจำเลยที่ 1อยู่หน้าที่ดินของโจทก์ทั้งสาม แผนที่พิพาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่าฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ไปสู่ทางสาธารณะได้หรือไม่ ปัญหาแรกจำเลยที่ 1ฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะตัวโจทก์ที่ 2และที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์แผ่นคำขอท้ายฟ้องและทนายโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทน ข้อเท็จจริงปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 4 สิงหาคม 2538ขอให้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว แต่ในวันเดียวกันนั้นโจทก์ที่ 2 และที่ 3ได้แต่งตั้งนายธวัช วีระสวัสดิ์ ทนายโจทก์ที่ 1 เป็นทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วยฉะนั้นเห็นว่า แม้คำฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และทนายความไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้เรียงพิมพ์ เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67(5) ศาลมีอำนาจสั่งให้คืนหรือแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสองแต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งตั้งทนายโจทก์ที่ 1 ผู้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องเป็นทนายโจทก์ที่ 2และที่ 3 ด้วย อนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขข้อบกพร่องในคำฟ้องโจทก์แล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 136/2501 ระหว่างนายชวน รัตนรักษ์ โจทก์นายวีระ วีระสุคนธ์ จำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2537นายฉัตรชัย ธนสารผดุงกิจ โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนครปฐมสถาปัตยกรรมกับพวกจำเลย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับประเด็นปัญหาที่สอง โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินจำเลยที่ 1 ไปสู่ทางสาธารณะได้หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 เอกสารหมาย จ.1 เป็นของนายเพียร เกษีเนื้อที่ 50 ไร่เศษ ต่อมานายเพียรได้แบ่งให้นางสาวพวน เกษี ทายาทในปี 2522 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินบางส่วนจากนางสาวพวน เกษีเพื่อทำถนนพิพาทและแยกโฉนดออกมาเป็นโฉนดเลขที่ 15632 และ15633 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 ที่เหลือมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมในวันที่ 24 ตุลาคม 2522 และจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในวันที่ 12 มีนาคม 2523 เป็นส่วนของนางสาวพวน เกษี โฉนดเลขที่ 16026 นางพุ่ม ทองคง โฉนดเลขที่ 16027 นางผิว นิยมทรัพย์โฉนดเลขที่ 16028 นางพิศ ฟักทับ โฉนดเลขที่ 16029 นายผาด เกษีโฉนดเลขที่ 16030 นายทับ เกษี โฉนดเลขที่ 16031 นางสงัด เกษีโฉนดเลขที่ 16032 และส่วนของนางบุญมา เกษี โฉนดเลขที่ 1003คงเดิม เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2532 นางบุญมาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1003ให้แก่นายวุฒิชัย ปัทมาสน์ และต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 โจทก์ทั้งสามซื้อที่ดินจากนายวุฒิชัย เห็นว่า กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 บัญญัติว่า “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน” จากบทบัญญัติดังกล่าวเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ สามารถใช้สิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้นั้นเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินอื่นจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด กรณีตามฟ้องโจทก์ทั้งสามที่ดินของจำเลยที่ 1 แบ่งแยกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 หมาย จ.1ไปก่อนแล้ว ต่อมาจึงมีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 เอกสารหมาย จ.1 ที่เหลืออีกครั้งหนึ่งในวันที่ 12 มีนาคม 2523 ซึ่งผลการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมครั้งนี้ทำให้ที่ดินส่วนที่ตกเป็นของโจทก์ทั้งสามในเวลาต่อมาไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ ปรากฏจากรูปจำลองแผนที่ด้านหลังโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ว่าก่อนแบ่งแยกโฉนดที่ดินครั้งหลังนี้ที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะทางทิศตะวันออกและจากการเผชิญสืบทางพิพาทของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2541 ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสามติดกับที่ดินของนางสงัด เกษี ซึ่งเป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 และอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 2 อีกแปลงหนึ่ง และสามารถผ่านที่ดินของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณะได้ดังนั้น โจทก์ทั้งสามมีสิทธิเรียกร้องเพื่อผ่านที่ดินเฉพาะแปลงที่แบ่งแยกในครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2523 เพื่อออกสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินผ่านที่ดินจำเลยที่ 1ออกสู่ทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350ได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1136/2533 ระหว่างนางฉลบชลัยย์พลางกูร โจทก์ บริษัทชินเขต จำกัด จำเลย ฎีกา จำเลยที่ 1 ในปัญหานี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7