คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4843/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 ให้โจทก์ใช้สิทธิถอนฟ้องได้เมื่อไม่ต้องการดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป แต่เมื่อจำเลยยื่นคำให้การแล้วศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยไม่ฟังจำเลยก่อนไม่ได้และไม่ว่าจำเลยจะคัดค้านการขอถอนฟ้องหรือไม่ ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องก็ได้ โดยคำนึงถึงความสุจริตของโจทก์ในการดำเนินคดี ตลอดจนความเป็นธรรมและความเสียหายที่จะเกิดแก่จำเลยประกอบด้วย
โจทก์บรรยายฟ้องถึงตัวบุคคลผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาผิดซึ่งจำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าไม่ถูกต้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเรื่องดังกล่าวแล้ว ข้อบกพร่องในคำฟ้องของโจทก์ย่อมหมดไปไม่ว่าโจทก์จะดำเนินคดีต่อไปหรือยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีเพื่อแก้ไขปรับปรุงคำฟ้องให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้วยื่นฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่ ก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบในเชิงคดี เพราะจำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการต่อสู้คดีกับโจทก์ได้อย่างเต็มที่ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นต้องพิพากษายกฟ้อง เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองคาดหมายเอาเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำคัดค้านของจำเลยทั้งสองแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 611ตำบลสาธร อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 5247ตำบลทุ่งมหาเมฆ (สาธร) อำเภอยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานครที่ดินทั้ง 2 แปลง มีพื้นที่ติดต่อกันมีเนื้อที่รวม 11 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวาพร้อมสิ่งปลูกสร้างและไม้ยืนต้นบนที่ดินถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อสร้างหรือจัดให้มีการขนส่งโดยรถไฟฟ้าและที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร โครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ให้โจทก์ไม่ถูกต้องและเป็นธรรมโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน477,304,208.46 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน466,192,229.39 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มิได้อุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรีจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การกำหนดเงินค่าทดแทนถูกต้องและเป็นธรรมแล้วที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้น จำเลยทั้งสองได้กำหนดค่ารื้อถอนและขนย้ายรวมอยู่ในค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ฟ้องโจทก์ในส่วนของเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างและที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงเป็นฟ้องซ้อนขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า รูปคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอ้างว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีนี้ต่อไป

จำเลยทั้งสองคัดค้านว่า หากศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเกรงว่าโจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีจากสารบบความ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า มีเหตุสมควรอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา แสดงว่าศาลชั้นต้นได้ตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสอง ซึ่งเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโจทก์อย่างแน่นอน การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ทำให้โจทก์สามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ โดยหาทางแก้ไขข้อบกพร่องของคำฟ้องหรือแก้ไขกระบวนการเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทน เพื่อให้อุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วยกฏหมายแล้วจึงนำคดีมาฟ้องใหม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความแทนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษายกฟ้องจึงไม่ถูกต้องเพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้โจทก์ถอนคดีของโจทก์ที่มีข้อบกพร่องไปจากศาลแล้วยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่เข้ามาโดยปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้นให้หมดไปซึ่งไม่เป็นธรรมแก่จำเลยทั้งสอง เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 175 บัญญัติว่า “ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล

ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่

(1) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอดถ้าหากมีก่อน

(2) ในกรณีที่โจทก์ถอนคำฟ้องเนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลย ให้ศาลอนุญาตไปตามคำขอนั้น”

เห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ให้โจทก์ใช้สิทธิถอนคำฟ้องจากศาลได้ในเมื่อโจทก์ไม่ต้องการดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป แต่ในกรณีที่จำเลยยื่นคำให้การแล้วศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยไม่ฟังจำเลยก่อนไม่ได้ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจำเลยจะคัดค้านการขอถอนฟ้องของโจทก์หรือไม่ก็ตาม ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องก็ได้ โดยคำนึงถึงความสุจริตของโจทก์ในการดำเนินคดีตลอดจนความเป็นธรรมและความเสียหายที่จะเกิดแก่จำเลยประกอบด้วย สำหรับคดีนี้โจทก์เพียงแต่บรรยายฟ้องถึงตัวบุคคลผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาผิดเพี้ยนไปเท่านั้น กล่าวคือ โจทก์กล่าวในฟ้องว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2539ซึ่งจำเลยทั้งสองต่อสู้ว่าไม่ถูกต้องเพราะในมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้แต่แม้กระนั้นก็ตามในเวลาต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 3 พฤษภาคม2542 ต่อศาลชั้นต้นขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่า โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนต่อนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้วข้อบกพร่องในคำฟ้องของโจทก์อันเกิดแต่ความผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวข้างต้นย่อมหมดสิ้นไป ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะดำเนินคดีต่อไปหรือยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีเสียเพื่อแก้ไขปรับปรุงคำฟ้องให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้วยื่นฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบในเชิงคดีแต่ประการใด เพราะจำเลยทั้งสองยังคงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการต่อสู้คดีกับโจทก์ได้อย่างเต็มที่ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องศาลชั้นต้นต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองคาดหมายเอาเองเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ว่าการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำคัดค้านของจำเลยทั้งสองแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share