คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 818/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่มีสิทธิหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินนายอำเภอออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินให้จำเลยออกจำเลยไม่ยอมออกอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108จึงนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจบุกรุกเข้าไปแผ้วถางโก่นสร้างและยึดถือครอบครองเอาที่ดินบางส่วนของที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ทรัพย์สาธารณประโยชน์ดังกล่าวเสียหายและไร้ประโยชน์ นายอำเภอได้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองออกไปภายใน 30 วัน จำเลยไม่ยอมออกไป โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 368, 91 ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคแรก ปรับคนละ 400 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จำเลยทั้งสองเข้าไปยึดถือครอบครองที่สาธารณะโคกหัวหล่อนที่ทางราชการสงวนไว้เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์สำหรับราษฎรทั่วไป ไม่ใช่ที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง นายพุธ ศิริพงษ์ นายอำเภอพลซึ่งเป็นนายอำเภอท้องที่จึงมีคำสั่งที่ 125/2515 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ว่า โดยอาศัยระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515) ข้อ 3(2) ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่สาธารณะแห่งนั้นภายใน 30 วัน จำเลยทั้งสองทราบคำสั่งนี้พ้นกำหนด 30 วันแล้วไม่ยอมออก เห็นว่านายอำเภอออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินโดยเฉพาะ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน (ตั้งแต่ก่อนมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96) และไม่ยอมออกจากที่ดินตามคำสั่งของนายอำเภออันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ข้อ 11 ได้นั้น กรณีจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้ “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 อยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ถ้าผู้ฝ่าฝืนเพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติให้ต้องตามระเบียบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ฝ่าฝืนออกจากที่ดินหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินนั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษ ฯลฯ” ฉะนั้นจึงนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยไม่ได้

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

Share