แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทหารกับพลเรือนใช้อาวุธปืนและมีดเข้าทำร้ายกัน กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 14(1) คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษา
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นทหารประจำการ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจพกพาอาวุธปืนรีวอลเวอร์ขนาด .38 มีเลขทะเบียนเข้าไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร และจำเลยกับนายพงษ์ศักดิ์ อนุสรณ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นพลเรือนยังไม่ได้ตัวมาฟ้องบังอาจกระทำผิดด้วยกัน โดยจำเลยได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายพงษ์ศักดิ์โดยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายพงษ์ศักดิ์ที่นิ้วกลางมือขวาได้รับบาดเจ็บไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย และนายพงษ์ศักดิ์ได้ใช้มีดปลายแหลมแทงจำเลยถูกไหล่ขวาด้านหน้าได้รับบาดเจ็บหนังขาด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 371 และริบปืน กระสุนปืน และปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ และ 72 ทวิ ลงโทษตามมาตรา 371 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิด และเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย ให้ปรับ 100 บาท ของกลางไม่ควรริบ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าและริบของกลาง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นบุคคลอยู่ในอำนาจศาลทหาร ศาลพลเรือนไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ประทับฟ้องโจทก์ ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
โจทก์ฎีกาว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน ตามมาตรา 14(1) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว คดีมีปัญหาว่าคดีของโจทก์อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษาได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 14 บัญญัติว่า คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารคือ
1. คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร กับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
2. คดีเกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน และตามาตรา 15 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือนปรากฏตามฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยเป็นทหารประจำการได้บังอาจกระทำผิดด้วยกันกับนายพงษ์ศักดิ์ โดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายพงษ์ศักดิ์ และนายพงษ์ศักดิ์ใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธแทงจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่ากระทำด้วยกันตามมาตรา 14(1) มีความหมายกว้างกว่าร่วมกันกระทำตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บุคคลที่กระทำผิดหาจำต้องมีเจตนาร่วมกันเสมอไปไม่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายพงษ์ศักดิ์ และนายพงษ์ศักดิ์ก็ใช้มีดปลายแหลมแทงจำเลยผลที่เกิดขึ้นคือต่างได้รับบาดเจ็บด้วยกัน ถ้าปราศจากการกระทำของฝ่ายหนึ่ง อาจจะไม่มีการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออาจเป็นเพราะบุคคลทั้งสองสมัครใจต่อสู้กันถือได้ว่าความผิดเกิดขึ้นเพราะต่างได้กระทำด้วยกันทั้งคู่ และหากจับนายพงษ์ศักดิ์ได้ก็อาจถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกันและกรณีเช่นนี้แม้จะถือไม่ได้ว่าจำเลยและนายพงษ์ศักดิ์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยเพราะต่างกระทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน แต่ก็ถือไม่ได้ว่าไม่มีผู้เสียหาย การที่จำเลยและนายพงษ์ศักดิ์วิวาททำร้ายร่างกายกัน ย่อมกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นการเสียหายต่อส่วนรวม บ้านเมืองซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบสุขในหมู่ประชาชนย่อมเป็นผู้เสียหายซึ่งความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำผิดที่จำเลยและนายพงษ์ศักดิ์กระทำด้วยกัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่มีผู้เสียหายเพราะจำเลยและนายพงษ์ศักดิ์ไม่ได้กระทำต่อผู้อื่นหรือสิ่งอื่น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 14(1) ซึ่งเป็นอำนาจของศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี