แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พยานโจทก์ได้รับคำบอกเล่ามาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยคนหนึ่งในคดีนี้ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียวกันไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนยิงตนนั้นก็เป็นคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานนำสืบต่อสู้คดีของตน เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะ จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยด้วยกันไม่ได้เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีอาวุธปืนพกสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนคนละ 1 กระบอก และกระสุนปืนคนละ 1 นัด ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองต่างใช้อาวุธปืนที่มีไว้ยิงกัน โดยเจตนาฆ่าซึ่งกันและกัน กระสุนปืนของจำเลยที่ 1 ถูกบริเวณหลังจำเลยที่ 2 กระสุนปืนของจำเลยที่ 2 ถูกบริเวณข้อเท้าจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองกระทำไปโดยตลอดแล้วแต่ไม่บรรลุผล ฯลฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 91
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แต่ปฏิเสธในข้อหาฐานพยายามฆ่า
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 91 จำคุก 10 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ฯลฯ จำคุก 1 ปี ความผิดฐานนี้จำเลยที่ 1รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก6 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องในข้อหาฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นสำหรับจำเลยที่ 1 เสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ถูกยิงบริเวณหลังกระสุนฝังในแพทย์ทำการผ่าตัดช่วยชีวิตไว้ทัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหามาสู่ศาล ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 ในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นว่า จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 2 หรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเลยว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 2 คงมีแต่นายบุญรัตน์ นายประวัติกำนัน และสิบตำรวจเอกปัญญาเบิกความว่า เมื่อนายประวัติและสิบตำรวจเอกปัญญาสอบถามจำเลยที่ 2 ที่บ้านนายใจ๋ภายหลังเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 บอกว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนยิง ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามได้รับคำบอกเล่ามาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยคนหนึ่งในคดีนี้ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียวกันไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่เบิกความว่า ตอนจำเลยที่ 1 เดินมาด้วย พอเดินขึ้นสะพานบ้านแม่ปั๋งได้ยินเสียงปืนดังขึ้น1 นัด พร้อมกับจำเลยที่ 1 พูดว่ามึงตายเสียเถอะ จำเลยที่ 2 ล้มลง จำเลยที่ 1 วิ่งหนีไป จำเลยที่ 2 จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนยิงนั้น ก็เป็นคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานนำสืบต่อสู้คดีของตน เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะ จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยด้วยกันไม่ได้เช่นกัน
พิพากษายืน