แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในทางแพ่ง เมื่อโจทก์ฟ้องได้บรรยายข้อเท็จจริงมาชัดแจ้งแล้ว ศาลมีหน้าที่ยกตัวบทกฎหมายขึ้นปรับแก่คดีเอง คดีนี้โจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทหารรับใช้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปรับบุตรจำเลยที่ 2 มาจากโรงเรียน ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการ และจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของ จำเลยที่ 2 ในกิจการนั้นโดยปริยายส่วนที่มีข้อความว่ากระทำไปใน ฐานะลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างด้วยนั้น ก็เป็นเพียงเหตุที่ยกขึ้น อ้างเปรียบเทียบเท่านั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดร่วมกับ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทน ในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำไปนั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วย มาตรา 820 ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 8,670 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ประเด็นที่จะวินิจฉัยว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เป็นการวินิจฉัยและพิพากษานอกฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นทหารรับใช้ของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถยนต์ประจำตำแหน่งของจำเลยที่ 2 ไปตามที่ต่าง ๆ ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหน้าที่ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวไปตามที่ต่างๆ ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 เสมือนหนึ่งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งทำหน้าที่ขับรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามทางการที่จ้างตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ เห็นว่า ในทางแพ่งเมื่อโจทก์ฟ้อง ได้บรรยายข้อเท็จจริงมาชัดแจ้งแล้ว ศาลมีหน้าที่ยกตัวบทกฎหมายขึ้นปรับแก่คดีเอง คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทหารรับใช้อยู่ที่บ้านจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปรับบุตรของจำเลยที่ 2 มาจากโรงเรียน ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการและจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในกิจการนั้นโดยปริยาย ส่วนที่มีข้อความว่ากระทำไปในฐานะลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างด้วยนั้น ก็เป็นเพียงเหตุที่โจทก์ทั้งสองยกขึ้นอ้างเปรียบเทียบว่า เสมือนกับในทางที่ต้องรับผิดด้วยเท่านั้น หาได้อ้างข้อเท็จจริงว่าเป็นเรื่องนายจ้างลูกจ้างไม่ ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปชนรถโจทก์ที่ 1 โดยประมาททำให้รถโจทก์ที่ 1 เสียหาย และโจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1ทำละเมิดภายในขอบอำนาจแห่งฐานะตัวแทน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1ทำไปนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 820 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง”
พิพากษายืน