คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามคำร้องของจำเลยที่ว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำฟ้องซ้ำ และฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144,148 และ 173 วรรคสอง นั้น มิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องหรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อซึ่งจะอุทธรณ์ได้ทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 วรรคสอง มาตรา 227และมาตรา 228(3) แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า คำว่า “โต๊ะกัง” และ/หรือ “ตั้งโต๊ะกัง” เป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นปู่ของโจทก์ที่ 2 และมีอาชีพเป็นช่างทองโดยประกอบกิจการค้าทองในนามตนเองมาดั้งเดิม ส่วนคำว่า “ตั้งโต๊ะกัง” มาจากชื่อตัวรวมกับชื่อสกุลของนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้นำคำดังกล่าวมาใช้เป็นชื่อนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 เมื่อนายโต๊ะกังถึงแก่กรรมนายเต็กกวง แซ่ตั้ง หรือนายตั้งเต็กกวงผู้เป็นบุตรได้ประกอบกิจการค้าทองสืบแทน และเมื่อปี 2463 นายเต็กกวง แซ่ตั้ง ได้เปลี่ยนชื่อสกุลจากแซ่ตั้งเป็น “ตั้งโต๊ะกัง” โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมแต่เพียงผู้เดียวในคำว่า “โต๊ะกัง” และ/หรือ “ตั้งโต๊ะกัง” เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2515 จำเลยที่ 2ได้นำคำว่า “โต๊ะกัง” ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญของชื่อนิติบุคคลของโจทก์ที่ 1 ไปใช้จดทะเบียนเป็นชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดห้างขายทองโต๊ะกังเยาวราช” และได้ใช้ชื่อดังกล่าวเป็นส่วนประกอบการค้าของจำเลยทั้งสอง ทำให้สาธารณชนซึ่งพบเห็นหลงผิดคิดว่าสถานประกอบการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสถานประกอบการค้าของโจทก์ทั้งสองหรือโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเลิกใช้ชื่อนิติบุคคลห้างหุ้นส่วนจำกัดห้างขายทองโต๊ะกังเยาวราชให้จำเลยทั้งสองเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 มิให้มีคำว่า “โต๊ะกัง” ประกอบเป็นชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และให้ลบป้ายยี่ห้อคำว่า “หลานตั้งโต๊ะกัง” ที่ปรากฏอยู่บนอาคารสำนักงานของจำเลยที่ 1

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา คดีดังกล่าวพิพาทกันเรื่องพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พระราชบัญญัติชื่อบุคคล สิทธิในการใช้นาม ชื่อนิติบุคคลและละเมิดเมื่อพิจารณาคำฟ้องคดีเดิมเทียบกับคดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทเป็นอย่างเดียวกัน มีคำขอคล้ายกัน และศาลได้มีคำพิพากษาในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ว่า คำฟ้องของโจทก์ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ฟ้องซ้ำ และฟ้องซ้อน

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งว่าประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลวินิจฉัยในคดีนี้เป็นเรื่องสิทธิในชื่อทางการค้า ส่วนคดีที่โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาแล้วเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1/2542 และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกานั้น ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเป็นเรื่องสิทธิในเครื่องหมายการค้า สิทธิที่โจทก์กล่าวอ้างในคดีนี้กับคดีดังกล่าวจึงเป็นคนละประเภทกัน ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและไม่ใช่คำฟ้องเรื่องเดียวกัน กรณีไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144, 148 และ 173 ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ฟ้องซ้ำ และฟ้องซ้อน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”เห็นว่า คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ว่าประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและไม่ใช่คำฟ้องเรื่องเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1/2542 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ฟ้องซ้ำ และฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144, 173 วรรคสอง(1) และมาตรา 148 นั้นมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องหรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อ ซึ่งจะอุทธรณ์ได้ทันที ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 วรรคสองมาตรา 227 และมาตรา 228(3) แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งจำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาไม่ได้ เพราะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดในชั้นนี้ให้แก่จำเลยทั้งสอง

Share