แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าเบิกความเท็จ โดยกล่าวถึงคำเบิกความของจำเลยและความจริงเป็นอย่างไร กับว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญของคดีแต่มิได้บรรยายให้เห็นว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญอย่างไรคดีที่จำเลยเบิกความนั้นพิพาทกันด้วยเรื่องอะไรประเด็นสำคัญแห่งคดีมีว่าอย่างไรเป็นคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา158(5)
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูลเป็นความผิดพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ แต่โจทก์ก็อ้างสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 208/2522 หมายเลขแดงที่ 387/2522 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา มาเป็นพยานคดีนี้ และโจทก์จำเลยต่างมีคดีพิพากษากันเพียงเรื่องเดียว ฉะนั้นโจทก์จำเลยย่อมเข้าใจดีแล้วว่า คดีก่อนพิพาทกันด้วยเรื่องอะไรหาต้องบรรยายมาในคดีนี้อีกไม่ ส่วนประเด็นสำคัญแห่งคดีก็มีอยู่ในสำนวนนั้นแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เมื่อจำเลยเบิกความเท็จ คดีย่อมมีมูลเป็นความผิด
พิเคราะห์แล้วการที่โจทก์อ้างสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 208/2522หมายเลขแดงที่ 387/2522 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจำเลยเบิกความไว้มาเป็นพยานในคดีนี้ เป็นเรื่องอ้างพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 เพื่อแสดงว่าข้อเท็จจริงในคดีมีว่าอย่างไรต่างกรณีกับเรื่องคำฟ้องถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ความว่า “คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ (5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆอีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วย พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฯลฯ” คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าเบิกความเท็จ โดยกล่าวถึงคำเบิกความของจำเลยและความจริงว่าเป็นอย่างไร กับคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญของคดี แต่มิได้บรรยายให้เห็นว่าคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญอย่างไร คดีที่จำเลยเบิกความนั้นพิพาทกันด้วยเรื่องอะไร ประเด็นสำคัญแห่งคดีมีว่าอย่างไร ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว คดีทำนองนี้ศาลฎีกาเคยพิพากษาไว้เป็นแบบอย่างแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นอ้างข้างต้น เมื่อวินิจฉัยว่าคำฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป”
พิพากษายืน