คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่ฎีกาคำพิพากษาที่ให้จำเลยชำระหนี้ภาษีเงินได้แก่เจ้าหนี้จำเลยขอมาในคำแก้ฎีกาให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในข้อนี้ไม่ได้
เงินได้พึงประเมินตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 หมายความรวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับแสดงว่าต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้วมิใช่เพียงแต่งานที่มีสิทธิจะได้รับเงินในขณะครบรอบระยะเวลาบัญชีงานที่ทำในระยะเวลาบัญชี พ.ศ.2512 แต่ได้รับค่าจ้างมาใน พ.ศ.2513 จึงมิใช่เงินได้ที่จะนำไปคิดกำไรสุทธิปี พ.ศ.2512

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้กรมสรรพากรได้รับชำระหนี้ตามรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับหนี้ที่จำเลยลูกหนี้จะต้องรับผิดหักภาษีเงินได้ของลูกจ้างบริษัทลูกหนี้ ณ ที่จ่ายนำส่งต่อกรมสรรพากรเจ้าหนี้จำนวน 1,115,026 บาท 78 สตางค์ เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวนนี้ โดยไม่มีฝ่ายใดฎีกาคัดค้าน การที่จำเลยลูกหนี้ซึ่งโต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ไว้ไม่ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จะขอมาในคำแก้ฎีกาให้ศาลฎีกายกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ส่วนนี้อันเป็นประเด็นข้อพิพาท โดยตรงหาได้ไม่

มีข้อวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าลูกหนี้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ปี พ.ศ. 2512 ถูกต้องหรือไม่ เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้อ้างมาในฎีกาว่า ลูกหนี้ได้รับค่าจ้างที่ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2512 จำนวน 1,280,000 บาท และค่าจ้างจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกจำนวนหนึ่งเป็นเงิน 180,000 บาท กับได้รับค่าจ้างจากนายโค้ว ปูเส้ง จำนวน 100,000 บาท รวมค่าจ้าง 3 รายการเป็นเงิน 1,560,000 บาท ค่าจ้างทั้งหมดนี้ลูกหนี้ได้รับในปี พ.ศ. 2513 จริง แต่เป็นเงินรายรับจากยอดงานที่ลูกหนี้ได้ทำในปี พ.ศ. 2512 ต้องตีเป็นราคางานที่ทำปี พ.ศ. 2512 ถือว่าลูกหนี้มีกำไรเท่ากับยอดงานนี้ ลูกหนี้แสดงไว้ในแบบเสียภาษีเงินได้ บุคคลปี 2512 จำนวน 370,500 บาท ต่ำไป 1,189,500 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 กำหนดให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี และเงินได้พึงประเมินนั้น มาตรา 39 ให้หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินอันแสดงว่าเงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษีต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว มิใช่เพียงแต่งานที่มีสิทธิจะได้รับเงินในขณะครบรอบระยะเวลาบัญชี หลักฐานในสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่ารอบระยะเวลาบัญชีของลูกหนี้ในปี พ.ศ. 2512 เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2512 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2512 เมื่อข้อเท็จจริงรับกันแล้วว่าลูกหนี้ได้รับค่าจ้างทั้งหมดในปี พ.ศ. 2513 จึงมิใช่กิจการซึ่งลูกหนี้กระทำจนได้เงินมาเป็นเงินได้ขณะครบรอบระยะเวลาบัญชีปี 2512 ที่จะนำไปคิดเป็นกำไรสุทธิของลูกหนี้ปี พ.ศ. 2512”

พิพากษายืน

Share