คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 813/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำให้การของ ส. ซึ่งเป็นผู้กระทำผิด ที่พาดพิงถึงจำเลยมีลักษณะเป็นการซัดทอด แต่ก็ใช่ว่าจะรับฟังไม่ได้เสียทีเดียว และ ส. ไม่ได้ เป็นจำเลยในคดีนี้ มิใช่เป็นการซัดทอดจำเลยในคดีเดียวกันทั้ง ส. มาเบิกความด้วยตนเองโดยตรงต่อศาล มิใช่พยานบอกเล่าจึงรับฟังได้

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสี่สำนวนมีใจความว่า เมื่อระหว่างปลายเดือนธันวาคม 2536 จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2537 จำเลยกับพวกและจ่าสิบเอกสุเมธ ไพรบึง จ่าสิบตรีล้อม เขม้นกสิกิจ ร้อยเอกจำนงค์พะยิ้ม จ่าสิบเอกเศกศึกหรือเสกศึก ศรีสมบูรณ์ และจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1132/2538, 1226/2538, 1254/2538 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1334/2538 ของศาลชั้นต้น ซึ่งให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว ได้ร่วมกันหลอกลวงกองทัพบกผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมอบหมายให้มณฑลทหารบกที่ 31 (ค่ายจิรประวัติ)โดยพลตรีศิลกัล กัลยาณมิตร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของทหารในสังกัด ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยกับพวกและบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันจัดทำใบสำคัญความเห็นแพทย์ ใบรับรองรายการยาและอวัยวะเทียมที่ไม่มีจำหน่ายในสถานพยาบาล ใบสั่งยาและใบเสร็จรับเงินแสดงการจัดซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์โดยอ้างว่าตนเองหรือภริยาหรือบิดามารดาป่วยหรือพิการและได้ซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์ไปอันเป็นความเท็จ ความจริงไม่ได้มีการซื้อแต่อย่างใด แล้วบุคคลดังกล่าวได้นำเอกสารไปยื่นขอเบิกเงินจากเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายทั้งสอง โดยการหลอกลวงเช่นว่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายที่ 2 หลงเชื่อ จึงจ่ายเงินให้แก่จำเลยและกลุ่มบุคคลดังกล่าวโดยจ่ายให้จ่าสิบเอกสุเมธเป็นเงิน 25,910 บาท เนื่องจากจ่าสิบเอกสุเมธหลอกลวงว่านางทัศนีย์ ไพรบึง ภริยาของตนป่วยพิการต้องซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์เป็นเงิน 27,100 บาท จ่ายให้จ่าสิบตรีล้อมเป็นเงิน 66,490 บาท เนื่องจากจ่าสิบตรีล้อมหลอกลวงว่าตนเองและนางเชื้อ เขม้นกสิกิจ มารดาป่วยพิการต้องซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์เป็นเงิน 69,500 บาท จ่ายให้ร้อยเอกจำนงค์ 49,400 บาทเนื่องจากร้อยเอกจำนงค์หลอกลวงว่าตนเองป่วยพิการได้ซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์เป็นเงิน 49,400 บาท และจ่ายให้จ่าสิบเอกเศกศึกหรือเสกศึกจำนวน 50,680 บาท เนื่องจากจ่าสิบเอกเศกศึกหรือเสกศึกหลอกลวงว่านางแจ่มและนางเครือทิพย์ ศรีสมบูรณ์ มารดาและภริยาของตนป่วยพิการได้ซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์เป็นเงิน 51,000 บาท เหตุเกิดที่ตำบลนครสวรรค์ออก อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 91 กับให้จำเลยคืนเงินรวม192,480 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง นับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 178/2540 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 6 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปีรวมจำคุก 6 ปี ส่วนที่ขอให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 178/2540 ของศาลชั้นต้นนั้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ทั้งสี่สำนวน

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกาทั้งสี่สำนวน โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จ่าสิบเอกสุเมธ ไพรบึง จ่าสิบตรีล้อม เขม้นกสิกิจ ร้อยเอกจำนงค์ พะยิ้ม และจ่าสิบเอกเศกศึกหรือเสกศึก ศรีสมบูรณ์ ได้หลอกลวงกองทัพบก ผู้เสียหายที่ 1 และพลตรีศิลกัล กัลยาณมิตร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 ผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจัดทำใบสำคัญความเห็นแพทย์ ใบรับรองรายการยาและอวัยวะเทียมที่ไม่มีจำหน่ายในสถานพยาบาลใบสั่งยา และใบเสร็จรับเงินแสดงการจัดซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์โดยอ้างว่าตนเองหรือภริยาหรือบิดามารดาป่วยหรือพิการ และได้ซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์อันเป็นความเท็จ ความจริงมิได้มีการซื้ออวัยวะเทียมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด แล้วบุคคลทั้งสี่ได้นำเอกสารไปยื่นขอเบิกเงินจากเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายทั้งสอง ทำให้เจ้าหน้าที่ของผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อ จ่ายเงินให้แก่บุคคลทั้งสี่อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาลที่รับไปแล้ว ทั้งให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและในชั้นศาลศาลชั้นต้นพิพากษาว่าบุคคลทั้งสี่มีความผิดฐานฉ้อโกงแต่ให้รอการลงโทษไว้คดีสำหรับบุคคลทั้งสี่เป็นอันยุติ คงมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับบุคคลทั้งสี่ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสี่สำนวนหรือไม่ จำเลยฎีกาโต้แย้งสรุปเป็นใจความได้ว่า เหตุที่บุคคลทั้งสี่ให้การในชั้นสอบสวนอ้างว่าจำเลยเป็นคนจัดเอกสารเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ให้แก่บุคคลทั้งสี่นั้น เป็นเพราะบุคคลทั้งสี่ถูกนายทหารพระธรรมนูญขู่เข็ญว่าจะงดจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และให้สัญญาว่าจะได้รับการรอการลงอาญา จึงให้การปรักปรำจำเลย ทั้งนางทิพารัตน์หรือเปีย มเหศวรก็มิใช่ภริยาของจำเลยและจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด เห็นว่า ตามที่บุคคลทั้งสี่คือ จ่าสิบเอกสุเมธ จ่าสิบตรีล้อมร้อยเอกจำนงค์ และจ่าสิบเอกเศกศึกหรือเสกศึกได้ให้การในชั้นสอบสวนว่าเป็นผู้เบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับอวัยวะเทียมและอุปกรณ์อันเป็นเท็จ โดยมีจำเลยเป็นผู้ช่วยดำเนินการให้ร่วมกับนางทิพารัตน์หรือเปียนั้น บุคคลทั้งสี่ต่างให้การรับสารภาพในชั้นศาล โดยมิได้กล่าวอ้างเลยว่าบุคคลทั้งสี่ถูกข่มขู่หรือถูกจูงใจจากนายทหารพระธรรมนูญซึ่งนั่งฟังการสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีนี้โดยตลอด คือพันโทนันทวิทย์คงเพชร ผู้ทำหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงมาตั้งแต่เบื้องต้น นอกจากนี้บุคคลทั้งสี่ก็มิได้คัดค้านหรือโต้แย้งแต่ประการใดว่า พันโทนันทวิทย์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันจะทำให้กระบวนการสอบสวนรับฟังไม่ได้ดังข้ออ้างของจำเลยจริงอยู่แม้คำให้การของบุคคลทั้งสี่ที่พาดพิงถึงจำเลยว่า ได้ร่วมกับนางทิพารัตน์หรือเปียจัดทำหลักฐานอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ให้แก่บุคคลทั้งสี่นั้นมีลักษณะเป็นการซัดทอด แต่ก็ใช่ว่าจะรับฟังไม่ได้เสียทีเดียวทั้งบุคคลทั้งสี่มิใช่จำเลยในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการซัดทอดจำเลยในคดีเดียวกัน โจทก์จึงอ้างบุคคลดังกล่าวมาเป็นพยานในคดีนี้ได้และคำเบิกความของบุคคลทั้งสี่ในฐานะพยานชั้นศาลก็ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพราะพยานมาเบิกความด้วยตนเองโดยตรงต่อศาล หาใช่พยานบอกเล่าแต่อย่างใดไม่ ดังปรากฏจากคำเบิกความในชั้นศาลของจ่าสิบเอกสุเมธ จ่าสิบตรีล้อมและจ่าสิบเอกเศกศึกหรือเสกศึกที่ยืนยันตรงกันว่า จำเลยเป็นผู้ให้คำแนะนำช่วยเหลือและจัดการเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จประกอบเรื่องขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ให้แก่พยานทั้งสามจนกระทั่งเบิกค่ารักษาพยาบาลได้สำเร็จ โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์คือส่วนแบ่งจากค่ารักษาพยาบาลอันเป็นเท็จดังกล่าวทุกราย ส่วนร้อยเอกจำนงค์พยานโจทก์อีกปากหนึ่งนั้น แม้เบิกความว่าได้ทราบเรื่องการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับอวัยวะเทียมจากเพื่อของพยานก็ตาม แต่พยานก็ยอมรับว่าได้ทราบเรื่องดังกล่าวจากจำเลยด้วย โดยจำเลยให้พยานติดต่อกับนางทิพารัตน์ มเหศวร ตัวแทนของบริษัทไทยแลนด์ แขนขาเทียม จำกัดในที่สุด นางทิพารัตน์ซึ่งพยานเห็นพูดคุยใกล้ชิดสนิทสนมกับจำเลยก็ได้ดำเนินการช่วยเหลือให้พยานได้รับค่ารักษาพยาบาลสำหรับอวัยวะเทียมอันเป็นเท็จ และพยานได้ให้ส่วนแบ่งแก่นางทิพารัตน์ตามที่นางทิพารัตน์เรียกร้อง จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของจ่าสิบเอกสุเมธและจ่าสิบตรีล้อมที่ว่านางเปียเป็นผู้ได้รับส่วนแบ่งเงินค่ารักษาพยาบาลสำหรับอวัยวะเทียมและอุปกรณ์จากพยานเช่นกัน ทั้งนี้พันโทประยูรต๊ะบีนตา ได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่านางเปียเป็นบุคคลเดียวกับนางทิพารัตน์ มเหศวร และเป็นภริยาของจำเลยข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยได้ให้การในชั้นสอบสวนยอมรับว่า จำเลยอยู่กินกับนางทิพารัตน์เป็นเวลา20 ปี โดยมิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน ปัจจุบันแยกกันอยู่ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.40 จำเลยมิได้โต้แย้งว่าการสอบสวนดังกล่าวไม่ชอบ พฤติการณ์แห่งคดีจึงรับฟังได้แน่ชัดปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยและนางทิพารัตน์หรือเปียได้ร่วมกันให้คำแนะนำช่วยเหลือ และจัดทำหลักฐานเพื่อเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับอวัยวะเทียมและอุปกรณ์อันเป็นเท็จให้แก่จ่าสิบเอกสุเมธ จ่าสิบตรีล้อม จ่าสิบเอกเศกศึกหรือเสกศึก และร้อยเอกจำนงค์จริง โดยจำเลยและนางทิพารัตน์หรือเปียได้ประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินส่วนแบ่งจากค่ารักษาพยาบาลสำหรับอวัยวะเทียมและอุปกรณ์อันเป็นเท็จ ซึ่งบุคคลทั้งสี่ได้รับจากผู้เสียหายทั้งสอง จึงเป็นกรณีร่วมกระทำผิดฐานฉ้อโกงกับบุคคลทั้งสี่ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสี่สำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่สำนวนฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share