คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกค้าจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัท จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองเช็คในฐานะกรรมการของบริษัทมีหน้าที่ต้องนำเช็คเข้าบัญชีของบริษัทเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่จำเลยไม่นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินและไม่นำเงินมาลงบัญชีเป็นรายได้ของบริษัทเพื่อลวงให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้จึงมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัดสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรและทายาทโดยชอบธรรมของนายอุดม พิจิตรพงศ์ชัย ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายอุดมผู้ตายตามคำสั่งศาลแพ่ง นอกจากนี้โจทก์จำเลยและนายอุดมผู้ตายต่างก็เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด และจำเลยยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำกิจกรรมต่าง ๆ แทนบริษัทด้วยจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุดมผู้ตาย ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมกล่าวคือ จำเลยได้ครอบครองเช็ครวม 22 ฉบับรวมจำนวนเงินตามเช็ค 5,913,162.34 บาท เป็นเช็คที่ลูกค้าได้สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัดเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระเงินจำเลยมีหน้าที่เรียกเก็บเงินตามเช็คแต่ละฉบับซึ่งเป็นรายได้ของบริษัท แต่จำเลยละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว โดยจำเลยกับพวกที่ยังมิได้ถูกฟ้องได้กระทำผิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการโดยงดเว้นไม่นำเช็คดังกล่าวทั้ง 22 ฉบับไปลงบัญชี และเมื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คแต่ละฉบับได้แล้วก็ไม่นำมาลงบัญชีเป็นรายได้ของบริษัทอันเป็นการไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีการเงินของบริษัทซึ่งเป็นกิจการของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด และอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย และจำเลยยังได้บังอาจร่วมกับพวกที่ยังไม่ได้ถูกฟ้องได้เบียดบังเอาเช็คทั้ง 22 ฉบับ ดังกล่าวซึ่งเป็นของบริษัทและของนายอุดมผู้ตายและโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวและในฐานะทายาทของนายอุดมผู้ตาย ไปเป็นของจำเลยหรือบุคคลที่สามโดยเจตนาทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด และโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนมูลฟ้องว่าโจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนายอุดม พิจิตรพงศ์ชัย นายอุดมเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2507โจทก์จำเลยและนายอุดมต่างก็เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทนี้เดิมจำเลยและนายอุดมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 หลังจากนายอุดมถึงแก่กรรมแล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯจำกัด ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2529 จนถึงปัจจุบันนี้ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.6 ระบุว่ากรรมการของบริษัทมี 3 คน ได้แก่นายเรืองชัย พิจิตรพงศ์ชัย นายอำนวย พิจิตรพงศ์ชัย (จำเลย)และนายวิชัย พิจิตรพงศ์ชัย และกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนบริษัทได้คือจำเลยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทหรือกรรมการอื่นสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท ตามหนังสือรับรองจำเลยเพียงคนเดียวก็มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ได้ด้วยการลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท โจทก์ยังเบิกความยืนยันว่าจำเลยในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯจำกัด มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทได้ ส่วนนายวิชัยนั้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงงานของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัดและเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัท ปัญหาวินิจฉัยมีว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การเป็นผู้จัดการโรงงานหาใช่เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัดตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามทางไต่สวนได้ความว่าจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯจำกัด มีหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทตามทางไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ยังนำสืบว่ามีเช็คพิพาทอยู่จำนวน 22 ฉบับ เป็นเงิน 5,913,162.34บาท ซึ่งลูกค้าจ่ายให้แก่บริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัดตามบัญชีเช็คเอกสารหมาย จ.3 เช็คทั้งหมดอยู่ในความครอบครองดูแลของนายอุดมก่อนจะเสียชีวิตและอยู่ในความครอบครองของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด เมื่อบิดาเสียชีวิตจำเลยเป็นผู้ครอบครองในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทมีหน้าที่ต้องนำเช็คทั้งหมดเข้าบัญชีของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด เพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่จำเลยละเว้นไม่นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินและไม่นำเงินมาลงบัญชีเป็นรายได้ของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ตามคำฟ้องและทางไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่า จำเลยเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ไม่นำเช็ค 22 ฉบับ ตามบัญชีเช็คเอกสารหมาย จ.3 ไปเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพฯจำกัด และไม่นำเงินมาเข้าบัญชีของบริษัทดังกล่าวเพื่อลวงให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ คดีของโจทก์จึงมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา42(2) ฎีกาส่วนนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(2) ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องของโจทก์ในข้อหาดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share