คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 29 ที่ใช้บังคับอยู่ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2534 นั้น การสละสมณเพศเพราะถูกจับในข้อหาคดีอาญาแยกได้เป็น 3 กรณี คือ 1. เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสไม่ยอมรับตัวไว้ควบคุม พนักงานสอบสวนดำเนินการให้สละสมณเพศได้ 2. พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเห็นว่าไม่ควรปล่อยชั่วคราวและไม่ควรมอบตัวให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม ก็ดำเนินการให้สละสมณเพศได้ และ3. พระภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งหรือเป็นพระจรจัด ก็ดำเนินการให้สละสมณเพศได้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2534 ร้อยตำรวจโท ส.นำจำเลยไปมอบให้พนักงานสอบสวนโดยมี ก.แจ้งว่าจำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุโดยมิชอบและยุ่งเกี่ยวกับพ.ภริยาของ ก. พนักงานสอบสวนจึงนำจำเลยไปพบเจ้าคณะเขตและพระภิกษุผู้ใหญ่อีกหลายรูปเพื่อสอบสวนจำเลย เมื่อไม่ได้ความชัดว่าขณะนั้นจำเลยจำพรรษาและสังกัดวัดใดแล้ว จำเลยได้ยินยอมสึกจากการเป็นพระภิกษุโดยเปลื้องจีวรออกแล้วแต่งกายด้วยชุดขาว เมื่อกรณีเห็นได้แจ้งชัดว่าจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาและพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ทั้งจำเลยมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง พนักงานสอบสวนจึงได้ดำเนินการให้จำเลยสละสมณเพศ โดยนำจำเลยไปพบเจ้าคณะเขตและพระภิกษุผู้ใหญ่อีกหลายรูปเพื่อทำการสึกจำเลยจากการเป็นพระภิกษุ การที่จำเลยยินยอมเปลื้องจีวรออกแล้วแต่งกายด้วยชุดขาวเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยได้สละสมณเพศแล้วเพราะพระภิกษุที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยหรือต้องปาราชิกจะขาดจากการเป็นพระภิกษุทันทีโดยเจ้าคณะเขตหรือเจ้าคณะตำบลหรือเจ้าคณะแขวงสามารถให้พระภิกษุรูปนั้นสึกได้โดยไม่ต้องกล่าวคำอำลาสิกขา การที่จำเลยยินยอมเปลื้องจีวรออกเพื่อต่อสู้คดี ย่อมไม่เป็นเหตุให้จำเลยกลับมาเป็นพระภิกษุใหม่อีก ดังนั้น การที่ต่อมาจำเลยกลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุจึงเป็นการกระทำที่เป็นความผิดตามป.อ.มาตรา 208

Share