คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่วินิจฉัยและมีคำสั่งว่าการที่โจทก์เลิกจ้าง ป. เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ให้โจทก์รับ ป. กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายซึ่งศาลแรงงานกลางตั้งเป็นประเด็นว่ามีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ แต่กลับวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง แล้วพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 หรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยปรับบทกฎหมายไม่ตรงกับคำฟ้องของโจทก์และประเด็นแห่งคดีที่กำหนดไว้ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ประกอบกิจการขนส่งเอกสารพัสดุภัณฑ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ป. เป็นพนักงานขับรถส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ภาคพื้นดินของโจทก์ได้ดื่มสุรากับ ส.ที่บ้านของส. ต่อมา ป.เข้ามาทำงานที่บริษัทโจทก์โดยอาการหน้าแดงและพูดเสียงดังกว่าปกติแต่ ป. มีหน้าที่ขับยานพาหนะ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหาย แก่ผู้อื่นหรือบริษัทโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ โจทก์จึงเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ มิใช่เลิกจ้าง ป. เนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้อง การที่ ป. ซึ่งเป็นประธาน สหภาพแรงงานร่วมกับพวกยื่นข้อเรียกร้องแล้วจะสันนิษฐานว่าโจทก์เลิกจ้าง ป. เนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้องไม่ได้ เมื่อโจทก์มิได้เลิกจ้าง ป. เนื่องจาก เหตุต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 จึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2539 นายประสงค์จุฑาหรือประสาน พันธุ์บุรี พนักงานขับรถส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ภาคพื้นดินของโจทก์ได้เข้าปฏิบัติงานในขณะที่มีอาการมึนเมาสุราและได้พานายสุวัฒน์ ทั่งถิระ บุคคลภายนอกเข้าไปภายในบริษัทโจทก์อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กรณีร้ายแรง โจทก์จึงได้มีคำสั่งเลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเมื่อวันที่ 8เมษายน 2539 หลังจากนั้นวันที่ 7 มิถุนายน 2539 นายประสงค์จุฑาได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่า การที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ต่อมาวันที่ 21สิงหาคม 2539 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยจำเลยทั้งสิบสองได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 14/2539 วินิจฉัยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 และมีคำสั่งให้โจทก์รับนายประสงค์จุฑากลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ไม่ต่ำกว่าเดิมเสมือนหนึ่งไม่มีการเลิกจ้างและให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตั้งแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานแก่นายประสงค์จุฑา โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสองคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อีกทั้งค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสิบสองกำหนดให้โจทก์จ่ายแก่นายประสงค์จุฑาเป็นค่าเสียหายที่สูงเกินควรขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 14/2539 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2529 ของจำเลยทั้งสิบสองและพิพากษาว่า การที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518หากศาลเห็นว่าไม่สมควรเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสอง ขอให้แก้คำสั่งดังกล่าวโดยลดค่าเสียหายลงตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร

จำเลยทั้งสิบสองให้การว่า นายประสงค์จุฑามิได้เป็นผู้นำนายสุวัฒน์ ทั่งถิระ ซึ่งเคยทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำบริษัทโจทก์เข้าไปภายในบริษัทเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2539 และในวันดังกล่าวนายประสงค์จุฑาไม่มีอาการมึนเมาสุราชัดเจน เช่นอาละวาด ซึม ทะเลาะวิวาทกับเพื่อนร่วมงาน หรือไม่สามารถครองสติได้แต่นายประสงค์จุฑากลับทำงานในหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบได้ครบถ้วนโดยไม่มีข้อบกพร่องจนเกิดความเสียหาย ก่อนหน้าที่จะถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2539 นายประสงค์จุฑาในฐานะเป็นประธานสหภาพแรงงาน ที เอ็น ที ได้ร่วมกับพวกยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์รวม5 ข้อ ข้อเรียกร้องดังกล่าวสามารถตกลงกันได้เมื่อวันที่ 1 เมษายน2539 รวม 3 ข้อ ส่วนข้อเรียกร้องอีก 2 ข้อ ที่ยังตกลงกันไม่ได้ การที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑา เพื่อต้องการจะกลั่นแกล้งนายประสงค์จุฑาเพื่อลดบทบาทการต่อรองของนายประสงค์จุฑากับโจทก์ ประกอบกับโจทก์เคยแพ้คดีต่อนายประสงค์จุฑาจนต้องรับนายประสงค์จุฑากลับเข้าทำงานมาแล้วครั้งหนึ่ง การที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และทำให้นายประสงค์จุฑาได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายประสงค์จุฑาเคยทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่พนักงานขับรถส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ภาคพื้นดิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,150 บาทเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2539 นายประสงค์จุฑาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสหภาพแรงงาน ที เอ็น ที ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2539 นายประสงค์จุฑาได้ร่วมกับกรรมการสหภาพแรงงาน ที เอ็น ที ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องเอกสารหมาย ล.18 ต่อโจทก์และได้มีการเจรจากันเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 ผลการเจรจาตกลงกันได้3 ข้อ ส่วนอีก 2 ข้อ คือเรื่องการจ่ายโบนัสและการปรับค่าจ้างประจำปีตกลงกันไม่ได้ จึงได้เลื่อนไปนัดเจรจากันอีกครั้ง หลังจากนั้นวันที่ 8เมษายน 2539 โจทก์ได้มีคำสั่งเลิกจ้างนายประสงค์จุฑา โดยอ้างว่านายประสงค์จุฑาเสพสุราหรือมึนเมาสุราในขณะทำงาน และนำบุคคลภายนอกเข้าไปในบริษัทโจทก์โดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำผิดต่อกฎระเบียบของโจทก์อย่างร้ายแรงตามหนังสือเลิกจ้าง เอกสารหมายจ.7 ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2539 นายประสงค์จุฑาได้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยจำเลยทั้งสิบสองได้มีคำวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้โจทก์รับนายประสงค์จุฑากลับเข้าทำงานตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม เสมือนไม่มีการเลิกจ้างและให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 14/2539 เอกสารหมาย ล.16แล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่านายประสงค์จุฑาเป็นผู้พานายสุวัฒน์บุคคลภายนอกเข้าไปในบริษัทโจทก์ในวันเกิดเหตุคงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2539 ระหว่างเวลา 10 ถึง 11 นาฬิกานายประสงค์จุฑาได้ดื่มสุรากับนายสุขเกษมที่บ้านของนายสุขเกษม ต่อมานายประสงค์จุฑาได้เข้าทำงานที่บริษัทโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายประสงค์จุฑามีอาการมึนเมาหรือขาดสติหรือก่อความเสียหายจากการดื่มสุราก่อนเข้าทำงาน เพียงแต่นายประสงค์จุฑามีอาการหน้าแดงและพูดเสียงดังกว่าปกตินั้นยังไม่อาจฟังว่านายประสงค์จุฑามึนเมาสุราในขณะทำงาน การที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาประธานสหภาพแรงงาน ที เอ็น ที และเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องตามหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องเอกสารหมาย ล.18 จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 123 วรรคหนึ่ง และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดค่าเสียหายถูกต้องเป็นธรรมแล้ว กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 14/2539 ลงวันที่ 21 สิงหาคม2539 ของจำเลยทั้งสิบสอง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 5 ว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 14/2539 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2539 ที่วินิจฉัยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 แต่ศาลแรงงานกลางกลับพิพากษาว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 123 จึงเป็นการปรับบทกฎหมายผิดและเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 14/2539 ลงวันที่ 21 สิงหาคม2539 ที่วินิจฉัยและมีคำสั่งว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ให้โจทก์รับนายประสงค์จุฑากลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย ซึ่งศาลแรงงานกลางได้ตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ที่เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง แล้วพิพากษายกฟ้อง โดยมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ตามที่โจทก์ฟ้อง และศาลแรงงานกลางตั้งประเด็นไว้หรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยปรับบทกฎหมายไม่ตรงกับคำฟ้องของโจทก์และประเด็นแห่งคดีที่กำหนดไว้ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นและเห็นสมควรวินิจฉัยไปตามประเด็นแห่งคดีโดยโจทก์อุทธรณ์ข้อ 3 ว่า การวินิจฉัยว่าโจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้นจะต้องพิเคราะห์ถึงมูลเหตุตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 121 แต่ศาลแรงงานกลางมิได้พิจารณาถึงมูลเหตุดังกล่าว กลับพิจารณาเพียงว่านายประสงค์จุฑาเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องตามหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องเอกสารหมาย ล.18แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 121 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง

(1) เลิกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน หรือกรรมการสหพันธ์แรงงานไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้นัดชุมนุม ทำคำร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดำเนินการฟ้องร้องหรือเป็นพยาน หรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือนายทะเบียน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานหรือกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัตินี้หรือต่อศาลแรงงาน หรือเพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานกำลังจะกระทำการดังกล่าว

(2) เลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างนั้นเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน

(3) ขัดขวางในการที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกหรือให้ลูกจ้างออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน หรือให้ หรือตกลงจะให้เงินหรือทรัพย์สินแก่ลูกจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงานเพื่อมิให้สมัครหรือรับสมัครลูกจ้างเป็นสมาชิก หรือเพื่อให้ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน

(4) ขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงานหรือขัดขวางการใช้สิทธิของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือ

(5) เข้าแทรกแซงในการดำเนินการของสหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงาน โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย”

ซึ่งหมายความว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ฯลฯ เพราะเหตุที่ลูกจ้างนั้นนัดชุมนุม ทำคำร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดำเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยานหรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือมีเหตุใดเหตุหนึ่งใน 5 เหตุที่ระบุไว้ในมาตรา 121 หากนายจ้างกระทำการดังกล่าวก็เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมคดีนี้แม้นายประสงค์จุฑาจะเป็นประธานสหภาพแรงงานและเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องตามหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องเอกสารหมาย ล.18แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการขนส่งเอกสารพัสดุภัณฑ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นายประสงค์จุฑาเป็นพนักงานขับรถส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ภาคพื้นดินของโจทก์ ในวันเกิดเหตุระหว่างเวลา 10 ถึง 11 นาฬิกา นายประสงค์จุฑาได้ดื่มสุรากับนายสุขเกษมที่บ้านของนายสุขเกษม ต่อมานายประสงค์จุฑาได้เข้ามาทำงานที่บริษัทโจทก์โดยอาการหน้าแดงและพูดเสียงดังกว่าปกติแม้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายประสงค์จุฑามึนเมาในขณะทำงานแต่นายประสงค์จุฑาซึ่งมีหน้าที่ขับยานพาหนะเพื่อขนส่งพัสดุภัณฑ์ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือบริษัทโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อนายประสงค์จุฑาดื่มสุราก่อนมาทำงานเพียงไม่นาน ย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเข้าใจได้ว่านายประสงค์จุฑามึนเมาสุราในขณะทำงาน จึงเลิกจ้างด้วยเหตุนี้มิใช่เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้องซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และศาลแรงงานกลางก็รับฟังข้อเท็จจริงว่า นายประสงค์จุฑาดื่มสุราในวันเกิดเหตุก่อนมาทำงาน แต่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่านายประสงค์จุฑามึนเมาสุราในขณะทำงาน เป็นการเจือสมข้ออ้างของโจทก์ที่เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาและจำเลยทั้งสิบสองไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบว่าโจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้อง การที่นายประสงค์จุฑาร่วมกับพวกยื่นข้อเรียกร้องแล้วจะสันนิษฐานว่าโจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้องนั้นไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเนื่องจากเหตุต่าง ๆตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121การเลิกจ้างดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งหากนายประสงค์จุฑาเห็นว่าการเลิกจ้างดังกล่าวไม่ถูกต้อง ก็ชอบที่จะเรียกร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างให้รับผิดจ่ายเงินต่าง ๆ ตามสิทธิอันพึงได้ของตนต่อไป ที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายประสงค์จุฑาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 14/2539 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2539 ของจำเลยทั้งสิบสอง

Share