คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8836/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534มาตรา 38 เป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจเพื่อกระจายอำนาจบริหารให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารราชการแผ่นดิน และกำหนดวิธีการมอบอำนาจโดยให้ทำเป็นหนังสือ ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวงการคลังโจทก์มีคำสั่งมอบอำนาจให้อธิบดีกรมธนารักษ์มีอำนาจร้องทุกข์และแต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ราชพัสดุโดยทำเป็นหนังสือการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจึงถูกต้องตามมาตรา 38 แล้ว
ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงการคลังโจทก์ตามพระราชบัญญัติราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 11 และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3)กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306จำเลยจึงไม่สามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกระทรวงในรัฐบาลในการฟ้องคดีนี้โจทก์มอบอำนาจให้นายมนัส ลีวีระพันธ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2488 นายเหิมระดมสุข ซื้อที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งมาจากนางจัด คมคายเพื่อใช้ในกิจการของโรงเรียนบ้านสลักได ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะและเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ต่อมาเมื่อนายเหิมถึงแก่ความตาย นางอุบล ระดมสุข ภริยาของนายเหิมยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินดังกล่าวทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นางอุบลตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 626 ซึ่งเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยมิชอบ และมีการโอนให้ผู้อื่นอีกหลายทอดจนถึงจำเลย ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโจทก์คัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุของโจทก์ และเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)สำหรับที่ดินพิพาท ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่รื้อถอนขอให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพียงแต่มอบอำนาจให้อธิบดีกรมธนารักษ์ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเท่านั้น มิใช่เป็นการมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนกระทรวงการคลังหรือฟ้องคดีแทน โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืน ซึ่งที่ดินพิพาทเกินกว่า 10 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินของแผ่นดินหรือที่ราชพัสดุ เนื่องจากนายเหิมมิได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โรงเรียนบ้านสลักได และโรงเรียนบ้านสลักไดไม่เคยเข้าถือเอาที่ดินนั้นเพื่อใช้ในกิจการของโรงเรียนแต่อย่างใดทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซื้อที่ดินดังกล่าวจากนางเพ็ญศรี สุพพัตกุลโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นแปลงเดียวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 626 เป็นที่ราชพัสดุของโจทก์ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ฉบับดังกล่าวให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม2488 นายเหิม ระดมสุข ครูใหญ่โรงเรียนบ้านสลักไดทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจากนางจัด คมคาย ในราคา 150 บาทตามเอกสารหมาย จ.36 ต่อมาเมื่อนายเหิมถึงแก่ความตายแล้วนางอุบลได้ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาททางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้เมื่อวันที่ 15ตุลาคม 2499 ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.5 (หมาย ล.2) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2518 นางอุบลขายฝากที่ดินพิพาทไว้แก่ร้อยเอกสนั่น โหมขุนทด แล้วไม่ไถ่ถอนจนหลุดเป็นสิทธิแก่ร้อยเอกสนั่น วันที่ 9 มีนาคม 2523 ร้อยเอกสนั่นขายที่ดินนั้นให้แก่นางเพ็ญศรีสุพพัตกุล และเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531 นางเพ็ญศรีขายต่อให้แก่จำเลย ในระหว่างนั้นครูใหญ่โรงเรียนบ้านสลักไดทำหนังสือร้องเรียนต่อจังหวัดสุรินทร์ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใช้เพื่อประโยชน์ของโรงเรียนบ้านสลักไดโดยเฉพาะ แต่ทางราชการจังหวัดสุรินทร์ยังมิได้ดำเนินการอย่างไร วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาท ช่างรังวัดได้ไปรังวัดที่ดินแล้ว แต่ราชพัสดุจังหวัดสุรินทร์คัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของโรงเรียนบ้านสลักได เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีความเห็นว่าควรออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย

คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 132/2534 ลงวันที่ 18 ตุลาคม2534 เป็นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มีผลให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 มาตรา 38 บัญญัติว่า “อำนาจในการสั่ง การอนุญาตการอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดหรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนได้ ดังต่อไปนี้

(1) …

(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า หรือผู้ว่าราชการจังหวัด

และความในวรรคสามของมาตรานี้บัญญัติว่า “การมอบอำนาจตามมาตรานี้ให้ทำเป็นหนังสือ”

บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจเพื่อกระจายอำนาจบริหารให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารราชการแผ่นดิน และกำหนดวิธีการมอบอำนาจโดยให้ทำเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวงการคลังโจทก์มีคำสั่งฉบับดังกล่าวข้างต้นมอบอำนาจให้อธิบดีกรมธนารักษ์มีอำนาจร้องทุกข์และแต่งตั้งทนายความเพื่อฟ้องคดีเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ โดยทำเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 การมอบอำนาจให้อธิบดีกรมธนารักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้จึงถูกต้องตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 38แล้ว อธิบดีกรมธนารักษ์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้

ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ราชพัสดุของโจทก์และโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปีคดีของโจทก์ย่อมขาดอายุความฟ้องร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นทั้งสองข้อดังกล่าวไปพร้อมกันและเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยเชื่อว่าที่ดินพิพาทเป็นของโรงเรียนบ้านสลักได เป็นที่ราชพัสดุของโจทก์ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 11 และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ดังนั้น ที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งที่ดินพิพาทเกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดอายุความนั้นกรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1306 ที่บัญญัติว่า”ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” จำเลยไม่สามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share