คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมิได้ซื้ออ้อยพิพาทจากบุคคลคนเดียวกับที่ขายให้โจทก์. แต่เป็นการซื้อจากบุคคลที่ไม่มีอำนาจจะขายให้ฉะนั้น จะนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303มาใช้บังคับไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้ให้ลูกจ้างตัดอ้อยในไร่โดยโจทก์ซื้ออ้อยมาจากนายขุนทอง และมอบให้นายขุนทองดูแลอ้อยไว้จำเลยได้ขนเอาอ้อยไป 12 ตัน ปล่อยทิ้งไว้อีก 2 ตัน ขอให้จำเลยใช้ราคาและค่าขาดประโยชน์ ฯลฯ จำเลยให้การว่า อ้อยเป็นของจำเลย ฯลฯ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอ้อยพิพาทโดยซื้อจากนายขุนทอง ถึงแม้จำเลยทั้งสองจะซื้ออ้อยรายเดียวกันนี้จากนายบุญมีโดยสุจริตก็จริง แต่คดีก็ฟังไม่ได้ว่านายบุญมีเป็นเจ้าของ จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เมื่อจำเลยทั้งสองใช้คนให้ไปตัดอ้อยของโจทก์โดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการทำละเมิด ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีมิใช่เป็นเรื่องบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกัน โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เพราะจำเลยทั้งสองมิได้ซื้ออ้อยพิพาทจากบุคคลคนเดียวกับที่ขายให้โจทก์ แต่เป็นการซื้อจากบุคคลที่ไม่มีอำนาจจะขายให้ ฉะนั้น จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1303 มาใช้บังคับไม่ได้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ปัญหาเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งการละเมิดเป็นเงินเท่าใดนั้น ศาลล่างยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหายแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share