คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อความในรายงานประจำวันเป็นถ้อยคำที่โจทก์ผู้แจ้งได้เล่าเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ออกเช็คชำระหนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้รับความเสียหาย จึงนำเช็คมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเกรงว่าเช็คจะขาดอายุความตำรวจรับแจ้งไว้และได้มอบเช็คคืนให้โจทก์รับไปในวันนั้น ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าคำร้องทุกข์ของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้วเสียก่อน คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยรวม 2 ข้อหาด้วยกันคือ ข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงและข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งความผิดทั้ง 2 ข้อหานี้เป็นความผิดอันยอมความได้โจทก์จึงจะต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นคดีโจทก์จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เกี่ยวกับเรื่องการร้องทุกข์นี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดก่อนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2519 ซึ่งศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวน ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือ การแจ้งความของโจทก์ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 นั้น เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายหรือไม่ซึ่งเมื่อได้พิเคราะห์ข้อความในรายงานประจำวันฉบับนี้แล้ว ก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคือร้อยตำรวจเอกเฉลียว รองเย็น ได้บันทึกถ้อยคำที่โจทก์ผู้แจ้งได้เล่าเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ไว้เป็นการชำระหนี้และธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงนำเช็คมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเกรงว่าเช็คจะขาดอายุความ ร้อยตำรวจเอกเฉลียวได้รับแจ้งไว้และได้มอบเช็คเอกสารหมาย จ.1 คืนให้โจทก์รับไปในวันนั้น จะเห็นได้ว่าข้อความในรายงานประจำวันฉบับดังกล่าวไม่มีตอนใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง และกลับปรากฏข้อความในรายงานดังกล่าวนั้นต่อไปว่าโจทก์ได้รับเช็คเอกสารหมาย จ.1 คืนมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับแจ้งความในวันดังกล่าวนั้นอีกด้วย จึงเป็นการย้ำให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไปจึงถือไม่ได้ว่าข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) เท่ากับคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์เสียภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดทั้ง 2 ข้อหา และเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2520 เกินกำหนด 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดเช่นเดียวกัน ฟ้องโจทก์ทั้ง 2 ข้อหา จึงขาดอายุความ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของโจทก์ต่อไป”

พิพากษายืน

Share