คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3999/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เล่นหมากรุกในเวลาทำงาน จำเลยได้ออกหนังสือเตือนโจทก์แล้ว โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมลงนามรับทราบหนังสือเตือนจำเลยก็แจ้งให้โจทก์ทราบด้วยวิธีปิดประกาศ และการที่โจทก์นำหนังสือเตือนไปวางบนโต๊ะทำงานต่อหน้าผู้จัดการโรงงานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา แม้จะมีลักษณะเป็นการท้าทายไม่เคารพผู้บังคับบัญชา เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับแต่ก็เป็นการกระทำเพื่อแสดงการปฏิเสธไม่ยอมลงนามรับทราบหนังสือเตือนและเป็นไปด้วยความสงบ ฉะนั้นพฤติการณ์ของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง หรือกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) หรือป.พ.พ. ม.583

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งห้าเล่นหมากรุกหรือหมากฮอสในระหว่างเวลาทำงาน จำเลยได้ออกหนังสือเตือนให้โจทก์ทั้งห้าลงนามรับทราบ แต่โจทก์ทั้งห้าปฏิเสธไม่ยอมลงนามรับทราบหนังสือเตือน กลับนำหนังสือเตือนนั้นไปวางบนโต๊ะทำงานต่อหน้านายอิ๊ป แฮนเซ่น ผู้จัดการโรงงานของจำเลยด้วยกิริยาไม่พอใจเป็นการท้าทายไม่เคารพผู้บังคับบัญชา การกระทำผิดทั้งสามประการประกอบกันถือได้ว่าโจทก์ทั้งห้าปฏิบัติฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับเป็นกรณีที่ร้ายแรงจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งห้าเล่นหมากรุกหรือหมากฮอสในระหว่างเวลาทำงานเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับนั้น จำเลยได้ออกหนังสือเตือนให้โจทก์ทั้งห้าประพฤติตัวให้ดีในโอกาสต่อไปแล้ว สำหรับการปฏิเสธไม่ยอมลงนามรับทราบหนังสือเตือนตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จำเลยมีวิธีแจ้งให้โจทก์ทราบหนังสือเตือนโดยวิธีอื่นได้ และจำเลยก็ได้ใช้วิธีปิดประกาศให้โจทก์ทราบไปแล้วเช่นเดียวกันส่วนการที่โจทก์นำหนังสือเตือนไปวางบนโต๊ะทำงานต่อหน้านายอิ๊ป แฮนเซ่น ผู้จัดการโรงงาน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ แม้มีลักษณะเป็นการท้าทายไม่เคารพผู้บังคับบัญชา เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ แต่การกระทำของโจทก์ก็เพื่อแสดงการปฏิเสธไม่ยอมลงนามรับทราบหนังสือเตือนรวมอยู่ด้วย ทั้งได้กระทำด้วยอาการสงบฉะนั้น พิจารณาพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ทั้งสามประการประกอบกันก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือกระทำความผิดอย่างร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583”

พิพากษายืน

Share