แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยในฐานะประธานกรรมการสหกรณ์โจทก์ขีดฆ่าแก้ไขใบเสร็จรับเงินทั้งที่ข้อบังคับของสหกรณ์โจทก์ไม่ได้ให้อำนาจที่จะกระทำได้ แต่ไม่มีข้อบังคับให้ส่งเงินนั้นแก่โจทก์ เงินจำนวนตามใบเสร็จนั้นไม่ใช่ของโจทก์ ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในระหว่าง พ.ศ. 2519 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 จำเลยเป็นประธานกรรมการสหกรณ์โจทก์ ในการโอนสิทธิป้ายทะเบียนรถยนต์สาธารณะของโจทก์ระหว่างสมาชิก จำเลยได้ขีดฆ่าชื่อสมาชิกเดิมในใบเสร็จรับเงินและใส่ชื่อผู้เข้าเป็นสมาชิกใหม่แทน ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยได้รับเงินจำนวน 62,640 บาทไว้จากสมาชิกโจทก์ เพื่อส่งมอบให้โจทก์ และเมื่อจำเลยไม่ส่งมอบ โจทก์จึงได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดชดใช้พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยรับเงินจำนวน 62,640 บาทไว้ ไม่นำส่งเป็นรายได้ของโจทก์ตามข้อบังคับ แต่ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาว่า โจทก์ไม่เคยมีมติหรือระเบียบให้เรียกเก็บเงินค่าโอนสิทธิป้ายทะเบียนรถยนต์ระหว่างสมาชิกก่อนปลายปี2519 โดยจำเลยได้ขีดฆ่าใบเสร็จรับเงินก่อนมีมติหรือระเบียบดังกล่าว ทั้งงบดุลประจำปี 2519 ก็ได้รับการเห็นชอบให้ผ่านไป ไม่มีการคัดค้าน ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.26 แม้จำเลยรับเงินดังกล่าวไปจริงก็ไม่ใช่เงินของโจทก์ดังนี้เห็นว่า ขณะจำเลยขีดฆ่าใบเสร็จรับเงิน และแม้รับเงินจำนวน 62,640 บาทตามฟ้องไว้ โจทก์ก็ไม่มีระเบียบหรือข้อบังคับให้เรียกเก็บเงินค่าโอนสิทธิป้ายทะเบียนรถยนต์ตามจำนวนดังกล่าว ฉะนั้น เงินจำนวนนี้หาใช้เงินรายได้ของโจทก์ไม่ การเรียกเก็บจากบุคคลอื่นซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ของโจทก์ และไม่นำส่งเป็นรายได้ของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าทำให้โจทก์เสียหาย ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และถึงหากมีข้อบังคับของโจทก์ข้อ 57 หน้า 45 และข้อ 57(15) ว่าจำเลยต้องปฏิบัติหน้าที่ในทางอันจะทำให้เกิดความเจริญแก่สหกรณ์ทุกประการ และข้อบังคับไม่ได้ให้อำนาจจำเลยขีดฆ่าแก้ไขใบเสร็จรับเงินตามฎีกาโจทก์ก็ตาม ก็ยังไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เพราะเงินจำนวนนั้นไม่ใช่ของโจทก์ดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ทำละเมิดยักยอกเอาเงินของโจทก์ตามฟ้อง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป”
พิพากษายืน