คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 ซึ่งก่อตั้งธนาคารออมสินเป็นนิติบุคคลมีบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา16 ว่าให้ผู้อำนวยการเป็นผู้จัดการธนาคารออมสิน มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และข้อบังคับของธนาคารออมสิน โดยไม่มีมาตราอื่นใดให้อำนาจแก่ประธานกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินกิจการอย่างเดียวกับผู้อำนวยการได้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจผู้อำนวยการแต่ผู้เดียวที่จะเป็นผู้จัดการทำการแทนธนาคารออมสินซึ่งเป็นนิติบุคคลรวมตลอดถึงการดำเนินคดี ประธานกรรมการหามีอำนาจไม่
เมื่อประธานกรรมการเข้ามาดำเนินการต่อสู้คดีแทนธนาคารออมสินซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลย โดยแต่งตั้งทนายดำเนินคดี มีการพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จสิ้นแล้ว และในตอนหลังธนาคารออมสินโดยผู้อำนวยการซึ่งเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการตามกฎหมายก็ได้แต่งทนายเป็นการถูกต้อง โดยแต่งตั้งทนายคนเดียวกันกับประธานกรรมการและมิได้โต้แย้งคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำมาแล้วแต่ประการใด ย่อมมีเหตุสมควรที่ศาลจะพิพากษาคดีไปตามกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินมาแล้วโดยไม่จำต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาเดิม ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 ซึ่งให้ศาลสอบสวนถึงอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล ถึงแม้ผู้นั้นจะไม่มีอำนาจหรืออำนาจบกพร่อง ศาลจะยกฟ้องหรือมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ฝากเงินไว้กับสำนักงานธนาคารออมสินสาขาอุตรดิตถ์ มียอดคงเหลือ 20,000.40 บาท โจทก์ขอเบิก จำเลยปฏิเสธทำให้โจทก์เสียหาย 2,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินฝากและค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า โจทก์มีเงินฝากคงเหลือในบัญชีเพียง 157.40 บาท จำเลยยินดีจ่ายให้พร้อมด้วยดอกเบี้ย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องธนาคารออมสินโดยพลอากาศเอกบุญชู เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ผู้อำนวยการ

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกหม่อมหลวงปืนไทย มาลากุลผู้อำนวยการธนาคารออมสินเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต

จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และยื่นคำร้องขอให้ชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย

หม่อมหลวงปืนไทยไม่ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งขาดนัดยื่นคำให้การและสั่งนัดสืบพยานโจทก์ โดยเห็นว่ายังไม่สมควรชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย

ครั้นสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ยังมิได้ตั้งทนายเข้าดำเนินคดีโดยถูกต้อง คงมีแต่พลอากาศเอกบุญชูซึ่งไม่มีอำนาจจัดการแทน ธนาคารออมสินเป็นผู้แต่งทนาย อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงให้ธนาคารออมสินจำเลยที่ 1 ยื่นใบแต่งทนายใหม่เสียให้ถูกต้องภายใน 15 วัน

ธนาคารออมสินยื่นคำแถลงว่า โจทก์ฟ้องธนาคารออมสินโดยพลอากาศเอกบุญชูเป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งได้แต่งทนายและยื่นคำให้การแล้ว หม่อมหลวงปืนไทยมิได้ถูกฟ้องด้วย และคดีนี้สืบพยานเสร็จแล้วหม่อมหลวงปืนไทยไม่ประสงค์จะแต่งทนายเข้ามาในคดีนี้อีก

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า นายพูล โพด้วย ยื่นคำแถลงแทนโดยไม่มีอำนาจหากธนาคารออมสินจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะแต่งทนายเข้ามาในคดีนี้ ก็ให้ผู้มีอำนาจยื่นคำแถลงภายใน 15 วัน

ถึงวันนัดศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ธนาคารออมสินจำเลยที่ 1 ยังมิได้แต่งทนายเข้ามาดำเนินคดีโดยถูกต้อง คงมีแต่พลอากาศเอกบุญชูประธานกรรมการซึ่งไม่มีอำนาจจัดการแทนแต่งทนายเข้าดำเนินคดีแทน เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องธนาคารออมสินเป็นจำเลยโดยตรงหาใช่ฟ้องพลอากาศเอกบุญชูเป็นจำเลยไม่ ผู้มีอำนาจจัดการแทนคือผู้อำนวยการธนาคารออมสินก็ต้องเข้าดำเนินคดีแทนตามกฎหมาย ต่อมาหม่อมหลวงปืนไทยผู้อำนวยการธนาคารออมสินซึ่งมีอำนาจจัดการก็หาได้เข้ามาดำเนินคดีไม่ กลับแต่งทนายคัดค้านไม่ยอมเข้าดำเนินคดีแทนธนาคารออมสิน และโต้แย้งว่าโจทก์ฟ้องพลอากาศเอกบุญชูเป็นจำเลยที่ 1 หาใช่ฟ้องธนาคารออมสินไม่ พลอากาศเอกบุญชูแต่งทนายเข้าดำเนินคดีเองมิใช่ธนาคารออมสินแต่งตั้ง เช่นนี้ กระบวนพิจารณานับตั้งแต่พลอากาศเอกบุญชูยื่นใบแต่งทนายเข้าดำเนินคดีแทน และยื่นคำให้การตลอดจนดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ จึงเป็นการไม่ชอบจึงให้ยกเลิกกระบวนพิจารณาที่ทนายดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 1 เสียทั้งสิ้นให้พิจารณาคดีใหม่

โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และขอให้สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การศาลสั่งให้ตามขอและพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวโดยจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ 20,000.40 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก

ธนาคารออมสินโดยหม่อมหลวงปืนไทยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 โดยหม่อมหลวงปืนไทยได้ยื่นใบแต่งทนายแล้วศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษาคดีต่อไปได้เลยไม่ใช่สั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาแล้วสั่งพิจารณาคดีใหม่ ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าพลอากาศเอกบุญชูประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิแต่งทนาย ไม่มีสิทธิยื่นคำให้การและไม่มีสิทธิสืบพยานก็ชอบที่จะพิพากษาคดีไปตามความเห็นนั้นพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่เพิกถอนกระบวนพิจารณาแล้วสั่งพิจารณาคดีใหม่เสียด้วย ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489มาตรา 16 ระบุชัดว่าให้ผู้อำนวยการเป็นผู้จัดการธนาคารออมสิน มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎและข้อบังคับของธนาคารออมสิน โดยไม่มีถ้อยคำในมาตราอื่นใดให้อำนาจแก่ประธานกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินกิจการอย่างเดียวกับผู้อำนวยการได้จึงเป็นที่เห็นได้ว่าพระราชบัญญัตินี้ให้อำนาจผู้อำนวยการแต่ผู้เดียวที่จะเป็นผู้จัดการทำการแทนนิติบุคคลได้ พลอากาศเอกบุญชู จันทรุเบกษา ในตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารออมสินจึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกิจการแทนธนาคารออมสิน

มีปัญหาต่อไปว่า เมื่อพลอากาศเอกบุญชู จันทรุเบกษา ไม่มีอำนาจเข้ามาดำเนินการแทนธนาคารออมสินได้แล้ว กระบวนพิจารณาที่พลอากาศเอกบุญชู จันทรุเบกษา ได้ดำเนินมาแต่ต้น ตั้งแต่แต่งตั้งนายพักตร์และนายพูลเป็นทนายดำเนินคดี มีการพิจารณาสืบพยานโจทก์พยานจำเลยจนเสร็จสิ้นแล้วเช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกกระบวนพิจารณาเสียทั้งสิ้นแล้วให้พิจารณาคดีใหม่นั้นชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในตอนหลังธนาคารออมสินโดยหม่อมหลวงปืนไทย มาลากุล ผู้อำนวยการธนาคารออมสินซึ่งเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการตามกฎหมาย ก็ได้แต่งทนายเป็นการถูกต้องแล้วโดยแต่งตั้งนายพูลทนายคนเดิมนั่นเอง ปรากฏว่าคดีนี้ได้มีการพิจารณาคดีกันมาจนเสร็จสำนวนแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 66 ถ้ามีผู้อ้างว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องในขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือยื่นคำให้การ ศาลจะทำการสอบสวนถึงอำนาจของผู้นั้นก็ได้ และถ้าเป็นที่พอใจว่า ผู้นั้นไม่มีอำนาจหรืออำนาจนั้นบกพร่อง ศาลมีอำนาจยกฟ้องคดีนั้นเสียหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมคดีนี้ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยตลอดดังกล่าวแล้วกล่าวคือได้มีการพิจารณาคดีมาจนเสร็จสำนวน โดยพลอากาศเอกบุญชู จันทรุเบกษา ประธานกรรมการของธนาคารออมสินจำเลยที่ 1 เองเป็นผู้แต่งทนายคนเดียวกับที่ผู้อำนวยการธนาคารออมสินแต่งตั้ง โดยไม่โต้แย้งกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำมาแล้วแต่ประการใด จึงน่าจะถือว่าเป็นการใช้ได้ ไม่มีเหตุควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาเดิมศาลชั้นต้นชอบที่จะต้องพิพากษาไปตามกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินมาแล้วนั้น พิพากษายืน

Share