คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ข้อ 28 กำหนดว่า “ในการดำเนินกิจการของการเคหะแห่งชาติให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน” เป็นหลักของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายของรัฐควรต้องคำนึงอยู่แล้ว หาใช่เป็นข้อแสดงวัตถุประสงค์ว่าไม่ประสงค์เพื่อแสวงกำไรอย่างเด็ดขาดไม่ กิจการของการเคหะแห่งชาติจำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์สำนวนแรก39,480 บาท โจทก์สำนวนหลัง 21,300 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ ถึงแม้จำเลยจัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พศ. 2522 ซึ่งมีความในข้อ 3(2)(4) และข้อ 8 (2)(4) กำหนดวัตถุประสงค์ของจำเลยไว้ว่า ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนผู้ประสงค์จะมีเคหะของตนเองหรือแก่บุคคลผู้ประสงค์จะจัดให้มีเคหะขึ้นเพื่อให้ประชาชนเช่า เช่าซื้อหรือซื้อ ปรับปรุงหรือรื้อแหล่งเสื่อมโทรม แต่วัตถุประสงค์ดังกล่าวก็มิได้แจ้งชัดว่าไม่ประสงค์เพื่อแสวงกำไรอย่างเด็ดขาด หรือเป็นการให้เปล่าดังเช่นกิจการมูลนิธิหรือกิจการสาธารณกุศล ตรงกันข้ามวัตถุประสงค์ที่ว่าจัดเคหะให้ประชาชนเช่าซื้อหรือซื้อย่อมเป็นที่เห็นได้ว่ามิให้กิจการที่ให้เปล่าและมิใช่เป็นการให้เช่าซื้อหรือซื้อในราคาทุน ยิ่งกว่านั้นประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ข้อ 3(3)ยังได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้อีกว่า “ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารหรือจัดหาที่ดิน” ซึ่งการประกอบธุรกิจนี้ย่อมมิได้ทั้งกำไรและขาดทุนดังเช่นรัฐวิสาหกิจอื่น นอกจากนี้ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว ข้อ 31 ยังได้กำหนดว่า “รายได้ ที่การเคหะแห่งชาติได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นของการเคหะแห่งชาติสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินงาน ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคาและเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวตามข้อ 16 ประโยชน์ตอบแทนตามข้อ 16 โบนัสตามข้อ 27 เงินสำรองตามข้อ 9 และเงินลงทุนตามงบลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามข้อ 30

รายได้ที่ได้รับปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระดังกล่าวในวรรคหนึ่งเหลือเท่าใดให้จัดเป็นทุนของการเคหะแห่งชาติ ฯลฯ” จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจการของจำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ การที่ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวข้อ 28 กำหนดว่า “ในการดำเนินกิจการของการเคหะแห่งชาติให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน” นั้น เป็นหลักของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายของรัฐควรต้องคำนึงอยู่แล้ว หาใช่เป็นข้อแสดงวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรอย่างเด็ดขาดไม่ กิจการของจำเลยจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน”

พิพากษายืน

Share