คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินสดที่จำเลยในฐานะตัวแทนได้รับไว้ รวม 2 รายการ คือ ก.ลูกหนี้ 58,301.35 บาท ” ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวในฟ้องว่ามีเงินสดจำนวนดังกล่าวอยู่ที่จำเลยแล้ว ส่วนรายการ “ข.สินค้าคงเหลือมีข้อความระบุว่า” ตลอดจนเงินสดตามบัญชีเงินสดดังกล่าวว่าด้วยลูกหนี้และสินค้าคงเหลือซึ่งท่านได้จำหน่ายไปหมดสิ้นแล้วจำนวน 116,189.30 บาท จำหน่ายสินค้าคงเหลือจำนวน116,189.30 บาท คืน” ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ยืนยันแล้วว่าจำเลยได้จำหน่ายสินค้าคงเหลือเป็นตัวเงินแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาเพียงจากสภาพคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า รายการในบัญชีเงินสดลูกหนี้และสินค้าคงเหลือในทางบัญชีย่อมหมายความว่าเป็นรายการที่บุคคลภายนอกหรือลูกหนี้ค้างชำระอยู่ จำเลยยังหาได้รับเงินจากลูกหนี้ไม่จึงไม่มีเงินสดอยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด และพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โดยไม่พิจารณาพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบโต้แย้งกันก่อนถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกรณีมีเหตุย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วย243(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้มาซึ่งสิทธิในการค้าบุหรี่ และได้ดำเนินการค้าบุหรี่ในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.จินดาหนองคายโจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทน มีอำนาจทำการแทนโจทก์เกี่ยวกับกิจการค้าบุหรี่ โดยจำเลยได้รับค่าจ้างจากโจทก์เป็นรายเดือนต่อมาจำเลยได้บอกเลิกการเป็นตัวแทน และโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทราบ และให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนรวมทั้งเงินสด 2 รายการ คือก.ลูกหนี้ 58,301.35 บาท และ ข. สินค้าคงเหลือ 57,887.95 บาทคืนให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน116,189.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เงิน ทรัพย์สินต่าง ๆ ตลอดจนบัญชีเจ้าหนี้ลูกหนี้และสินค้าคงเหลือตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดส.จินดาหนองคาย ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยมิได้เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของโจทก์ แต่เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.จินดาหนองคาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 116,189.30 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่า รายการในบัญชีเงินสดรวม 2 รายการคือ ลูกหนี้ 58,301.34 บาท และสินค้าคงเหลือ 57,887.95 บาทดังกล่าว สำหรับคำว่าลูกหนี้ในทางบัญชีย่อมหมายความว่า เป็นรายการที่บุคคลภายนอกหรือลูกหนี้ค้างชำระเงินจำนวน 58,301.35 บาท จำเลยยังหาได้รับเงินจากลูกหนี้ไม่ จึงไม่มีเงินสดจำนวนดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย ส่วนคำว่า สินค้าคงเหลือก็มีความหมายชัดแจ้งว่า ยังมีสินค้าเหลืออยู่มีราคาคิดเป็นเงิน 57,887.95 บาทจึงไม่มีเงินสดจำนวนดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยเช่นเดียวกัน การที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงินสดจำนวน 116,189.30บาทแก่โจทก์ ย่อมเป็นคำขอที่มิอาจบังคับจำเลยได้ เพราะยังไม่มีเงินสดที่จำเลยรับไว้ในฐานะตัวแทนของโจทก์อยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 116,189.30 บาทแก่โจทก์ ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของจำเลยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า”จำเลยในฐานะตัวแทนมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินสดที่จำเลยในฐานะตัวแทนได้รับไว้แทนโจทก์ในฐานะตัวการรวม 2 รายการ คือ ก.ลูกหนี้58,301.35 บาท” เป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์กล่าวในฟ้องว่ามีเงินสดจำนวนดังกล่าวอยู่ที่จำเลยแล้ว ส่วนรายการ “ข.สินค้าคงเหลือ57,887.95 บาท ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งมีข้อความว่า”ตลอดจนเงินสดตามบัญชีเงินสดดังกล่าวว่าด้วยลูกหนี้และสินค้าคงเหลือซึ่งท่านได้จำหน่ายไปหมดสิ้นแล้วจำนวน 116,189.30 บาทให้ท่านดำเนินการส่งมอบเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ทรัพย์สินตลอดจนเงินสดที่ท่านเก็บจากบรรดาลูกหนี้ และจำหน่ายสินค้าคงเหลือจำนวน116,189.30 บาท คืน” จะเห็นได้ว่า โจทก์ได้ยืนยันแล้วว่าจำเลยได้จำหน่ายสินค้าคงเหลือเป็นตัวเงินแล้ว ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1จะพิจารณาพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบโต้แย้งกันก่อนแล้วจึงวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาเพียงจากสภาพคำฟ้องและพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ดังกล่าว ถือว่ามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา กรณีมีเหตุสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 243(2)
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share