คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในค่าชดเชยโดยโจทก์มิได้มีคำขอในเงินจำนวนนี้ เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานพิพากษาในเรื่องนี้มิใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ที่ศาลแรงงานจะพิพากษาเกินคำขอบังคับได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52 คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยให้ค่าชดเชยแก่โจทก์ตามจำนวนที่ระบุแต่ละสำนวน กับให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันเลิกจ้าง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในสำนวนที่ 11 และสำนวนที่ 12 เสียดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยที่โจทก์ทั้งสองสำนวนนี้มิได้มีคำขอบังคับในเรื่องดังกล่าว จึงมีปัญหาว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในเรื่องนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาข้อนี้คู่ความมิได้อุทธรณ์ แต่เห็นว่าเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาพิเคราะห์ปัญหานี้แล้ว เห็นว่าการที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในเรื่องนี้ มิใช่เป็นกรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอันศาลจะมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอบังคับได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในสำนวนที่ 11 และสำนวนที่ 12 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share