คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กฎหมายบัญญัติให้ผู้จัดตั้งโรงงานดำเนินงานเป็น 2 ตอนการตั้งโรงงานต้องได้รับอนุญาต ตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 8 ฝ่าฝืนผิด มาตรา 43 ก่อนเปิดดำเนินการต้องได้รับอนุญาตตาม มาตรา 12 ฝ่าฝืนผิด มาตรา 44 จำเลยตั้งโรงงานประกอบกิจการซ่อมและพ่นสีรถยนต์ เป็นความผิด 2 กระทง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยตั้งโรงงานโดยไม่รับอนุญาต ไม่อยู่ในฐานะขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จำเลยมีความผิดฐานเดียวตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 43 ป.ว.44 18 มกราคม 2515 ป.ว. 250 3 พฤศจิกายน 2515 ปรับ 3,500 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 3,500 บาท ตาม มาตรา 44 อีกกระทงหนึ่งรอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาเพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 2 กระทง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 8 บัญญัติว่า การตั้งโรงงานต้องได้รับอนุญาตจากปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายให้ออกใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 12 บัญญัติว่า เมื่อตั้งโรงงานเสร็จแล้วก่อนเปิดดำเนินงานให้ผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่อปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายให้ออกใบอนุญาตเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองมาตราดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการเป็น 2 ตอน ตอนแรกเพื่อให้ทางราชการกำหนดเขตอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยผังเมืองตอนสองก็เพื่อป้องกันมิให้โรงงานก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสาธารณชน จึงได้กำหนดให้ผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานได้แล้วจะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานอีกครั้งหนึ่ง หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามก็มีความผิด สำหรับตอนแรกมาตรา 43 บัญญัติว่า “ผู้ใดตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งให้ผู้ตั้งโรงงานนั้นหยุดติดตั้งเครื่องจักรหรือรื้อถอนเครื่องจักรที่ติดตั้งไว้ได้ตามที่เห็นสมควร”ส่วนตอนหลังผิดตามมาตรา 44 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต” เห็นว่าการกระทำของจำเลยแยกได้เป็นสองกระทงต่างหากจากกัน และตามฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายแยกกันมาว่า จำเลยได้กระทำฐานตั้งโรงงานโดยไม่รับอนุญาตกระทงหนึ่ง และฐานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง และจำเลยก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง คดีจึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดสองกรรม”

พิพากษายืน

Share