แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การเลิกจ้างย่อมเป็นมูลให้เรียกร้องค่าชดเชยและเรียกสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า และโจทก์อาจฟ้องเรียกร้องรวมในคดีก่อนได้อยู่แล้ว แต่ไม่ฟ้อง กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เรียกสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าอีก ดังนี้ ประเด็น ที่จะต้องวินิจฉัยในคดีทั้งสองก็เนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ปรากฏว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกค่าทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติและในวันหยุด ค่าทดแทนและค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากโจทก์ถูกรถจักรยานยนต์ชนได้รับบาดเจ็บสาหัสในขณะที่โจทก์ไปสั่งซื้อหิน ทราย และเช่ารถดั๊มพ์มาเพื่อกิจการของจำเลยตามหน้าที่ของโจทก์ และเรียกร้องค่าชดเชยในการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิด จากจำเลยและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลแรงงานกลาง ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 5,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ซึ่งการเลิกจ้างนี้ย่อมเป็นมูลให้โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและเรียกสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและโจทก์อาจฟ้องเรียกร้องรวมไปในคดีก่อนได้อยู่แล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรียกสินจ้างที่มิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าอีก ดังนี้ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีทั้งสองก็เนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31”
พิพากษายืน