แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ แต่จำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเพิ่มเติมประกอบใบอนุญาต แม้ข้อกำหนดระบุไว้ว่าผู้รับอนุญาตจะตั้งโรงงานไม้แปรรูปได้ด้วยเครื่องจักรเพื่อประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปจำหน่าย แต่จเลยแปรรูปไม้หมอนรถไฟโดยรับจ้างตบแต่งด้วยการใช้เครื่องจักรถากไม้หมอนให้ได้ขนาดเรียบร้อย การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 48 หากแต่เป็นการกระทำผิดต่อข้อกำหนดซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตนี้ได้ ไม่ใช่กรณีที่จะฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษจำเลย
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2506)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังทำการเลื่อยแปรรูปไม้ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การว่า ไม้นั้นเป็นไม้หมอนรถไฟ เป็นของนายใหญ่ ชอบด้วยกฎหมาย นายใหญ่นำมาให้จำเลยช่วยตบแต่งให้สวยงามและได้ขนาด จำเลยไม่ได้แปรรูปไม้ให้เปลี่ยนหรือกลายสภาพเป็นอย่างอื่น จำเลยมิได้ครอบครองในฐานะเจ้าของผู้ครอบครอง และจำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้
ศาลชั้นต้นพิพากษษว่าจำเลยกระทำฝ่าฝืนข้อกำหนดประกอบใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ไม่ใช่ผิดต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าไม้ เรื่องมีไม้ไว้ในครอบครองเห็นว่า การครอบครองยังเป็นของนายใหญ่อยู่ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยได้แปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓ (๓) ก. แล้ว ที่จำเลยรับจ้างแปรรูปไม้ผิดไปจากใบอนุญาต เท่ากับไม่ได้รับอนุญาต จึงมีความผิด พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ส. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๑๗ ไม้ของกลางให้คืนเจ้าของ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คดีนี้จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ มีใบอนุญาตแล้ว แต่ทั้งนี้จำเลยจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดเพิ่มเติมประกอบใบอนุญาตนั้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นผู้กำหนดโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๕ แห่งฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยระบถในข้อ ๑ ว่า “ผู้รับอนุญาตจะตั้งโรงงานแปรรูปไม้ด้วยเครื่องจักรประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปจำหน่ายโดยใช้เครื่องจักรมีกำลังสิบสองแรงม้าตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จะไม่ใช้เครื่องจักรมีกำลังแรงม้าเกินกว่านี้เป็นอันขาด” การที่จำเลยรับจ้างตบแต่งไม้หมอนรถไฟ ไม่ใช่เป็นการประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป แต่จำเลยก็ได้รับอนุญาตให้ทำการแปรรูปไม้แล้ว จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต หากแต่เป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อกำหนดในใบอนุญาต ซึ่งการกระทำผิดข้อกำหนดนี้ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายให้ลงโทษ คงมีแต่มาตรา ๕๙ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นกรณีที่จะฟ้องจำเลยต่อศาลให้ลงโทษได้ ฉะนั้น
จะลงโทษจำเลยตามมาตรา ๔๘ ดังฟ้องไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง