แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารในที่ดินของจำเลย รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 1,260,000 บาท ตกลงแบ่งชำระค่าก่อสร้างเป็น 4 งวด งวดที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาทภายหลังมีการเลิกสัญญาก่อสร้างเมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารให้จำเลยจนครบงวดงานที่ 1 แล้ว โดยจำเลยชำระค่าวัสดุแทนโจทก์ ไปจำนวน 132,612 บาท และโจทก์เบิกเงินค่าแรงงานไปจากจำเลย จำนวน 82,832 บาท จำเลยคงค้างงานอยู่อีก 84,556 บาท เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมส่วนที่เป็นงานอันได้กระทำให้แก่กันแล้ว ให้ชดใช้กันด้วยเงินตามควรค่าแห่งงานนั้น ๆ ดังนี้ เมื่อขณะที่ยังมีข้อสัญญาที่ต้องปฏิบัติต่อกันโจทก์ได้ทำงานให้แก่จำเลยไปบ้างแล้ว ภายหลังเมื่อมีการเลิกสัญญา จำเลยย่อมต้อง ใช้ค่างานแก่โจทก์ตามที่ได้กระทำให้จำเลยไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่างานที่เหลือจำนวน 84,556 บาทจากจำเลยได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างให้โจทก์รับเหมาก่อสร้างอาคารในที่ดินของจำเลยตั้งโดยตกลงจะก่อสร้างตามแบบแปลนอาคารที่จำเลยเสนอรวมเป็นเงิน 1,260,000 บาท จำเลยตกลงชำระค่าวัสดุและค่าก่อสร้างเป็น 4 งวด หลังจากทำสัญญาโจทก์เริ่มก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยตามสัญญา โดยจัดหาช่างและจัดซื้อวัสดุก่อสร้างโดยเงินของโจทก์ ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม 2536 จำเลยได้ผิดสัญญากล่าวคือ เมื่อโจทก์ทำงานตามงวดงานในงวดที่ 1 เสร็จ โจทก์ขอเบิกค่าก่อสร้างและค่าวัสดุจำนวน 300,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอมชำระโจทก์จึงไม่สามารถก่อสร้างอาคารตามสัญญาได้ โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาโดยให้จำเลยชำระค่างวดและค่าวัสดุก่อสร้างเป็นเงิน 563,770 บาท จำเลยได้รับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์ ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงเลิกจ้างต่อกันโดยตกลงกันว่าค่าก่อสร้างตามงวดแรกทั้งหมดจำนวน 300,000 บาทโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ โดยให้จำเลยชำระหนี้แทนร้านค้าต่าง ๆในเขตอำเภอปากพนัง และเกี่ยวกับเงินค่าแรงคนงานทั้งหมดจำนวน 82,832 บาท ให้โจทก์เป็นผู้ชำระ ส่วนจำเลยชำระหนี้แทนโจทก์จำนวน 175,732 บาท สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 84,556 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพียง 84,556 บาท ซึ่งไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันแล้ว ไม่มีข้อผูกพันตามสัญญาที่จะบังคับต่อกันอีกโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้นในคดีที่ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2536 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคาร 1 ชั้น ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 16 เมตร 6 หลัง ในที่ดินของจำเลยรวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 1,260,000 บาท ตกลงแบ่งชำระค่าก่อสร้างเป็น 4 งวดงวดที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาท ภายหลังมีการเลิกสัญญาก่อสร้างเมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารให้จำเลยจนครบงวดงานที่ 1 แล้ว โดยจำเลยชำระค่าวัสดุแทนโจทก์ไปจำนวน 132,612 บาท และโจทก์เบิกเงินค่าแรงงานไปจากจำเลยจำนวน 82,832 บาท จำเลยคงค้างค่างานอยู่อีก 84,556 บาท เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นงานอันได้กระทำให้แก่กันแล้วให้ชดใช้กันด้วยเงินตามควรค่าแห่งงานนั้น ๆ คดีนี้เมื่อขณะที่ยังมีข้อสัญญาที่ต้องปฏิบัติต่อกันโจทก์ได้ทำงานให้แก่จำเลยไปบ้างแล้ว ภายหลังเมื่อมีการเลิกสัญญา จำเลยย่อมต้องใช้ค่างานแก่โจทก์ตามที่ได้กระทำให้จำเลยไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่างานที่เหลือจำนวน 84,556 บาท จากจำเลยได้ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
พิพากษายืน