คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเพียงแต่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า หากข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์กล่าวหา ผู้เสียหายก็คือบริษัท ก. ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทยังถือไม่ได้ว่าเป็น ผู้เสียหายอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการ บริษัท ก. ย่อมเป็นผู้เสียหายจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้าม ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ และมาตรา 194
หากข้อเท็จจริงได้ความว่ามีการกระทำผิดตามฟ้อง ฐานปลอมและใช้เอกสารรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด รายงานจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและหรือมติพิเศษบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท บริษัทตลอดทั้งบรรดาผู้ถือหุ้นและกรรมการย่อมได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการกระทำนั้นจึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

ข้อ 1(ก) วันที่ 12 มิถุนายน 2529 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมเอกสารรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2529 ของบริษัทกิจกาญจน์เทรดดิ้ง จำกัด ขึ้นทั้งฉบับ โดยพิมพ์ข้อความรายละเอียดในเอกสารดังกล่าวอันเป็นเท็จว่า “มีผู้ถือหุ้นมาประชุมเจ็ดคนถือหุ้นหกพันหุ้นครบเป็นองค์ประชุมโดยนายเอี่ยมฮวด กาญจนะโภคินเป็นประธานที่ประชุม” นอกจากนี้ยังพิมพ์ข้อความอันเป็นเท็จว่า “และที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ให้นางสาววริยา จงสาครสิน ออกได้โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เข้าเป็นกรรมการแทน” ความจริงโจทก์ไม่เคยเข้าร่วมประชุม และไม่เคยลงมติให้จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการ จากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในช่อง “ประธานที่ประชุม” และช่อง”กรรมการ” ความจริงโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเพื่อให้บุคคลทั่วไปเชื่อว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นนางสาววริยาและโจทก์

(ข) วันที่ 7 กรกฎาคม 2529 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมลายมือชื่อของโจทก์ลงในเอกสารคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดในช่องข้อความ ลงลายมือชื่อผู้เริ่มก่อการผู้ขอจดทะเบียน/กรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัท โดยมีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อรับรองว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวต่อหน้าจำเลยที่ 3 ความจริง โจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด และนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น นายทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการและโจทก์

(ค) ในวันเดียวกันกับฟ้องในข้อ 1 (ข) จำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในเอกสาร รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและหรือมติพิเศษในช่องข้อความลงลายมือชื่อ ผู้เริ่มก่อการ ผู้ขอจดทะเบียนกรรมการ ผู้ขอจดทะเบียน และเอกสารกรรมการเข้าใหม่ ในช่องข้อความ กรรมการ ผู้ขอจดทะเบียน ความจริงโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการและโจทก์

ข้อ 2 วันที่ 22 มกราคม 2529 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมเอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทกิจกาญจน์เทรดดิ้งจำกัด ฉบับลงวันที่ 22 มกราคม 2529 ขึ้นทั้งฉบับ โดยพิมพ์ข้อความรายละเอียดในเอกสารดังกล่าวอันเป็นเท็จว่า “จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท” และปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องข้อความว่า “ขอรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นลงลายมือชื่อ กรรมการ”ความจริงจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นและโจทก์ไม่เคยลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการและโจทก์

ข้อ 3 วันที่ 19 มีนาคม 2534 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ใช้และอ้างเอกสารปลอมดังกล่าวตามฟ้อง ข้อ 1(ก)(ข)(ค) และข้อ 2 เป็นพยานหลักฐานประกอบคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงสมุทรปราการ ข้อหาแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จและใช้เอกสารเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 และ 268 ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1919/2535 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังร่วมกันยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 9284/2534 ต่อศาลแพ่ง ข้อหากระทำผิดต่อหุ้นส่วนบริษัท ละเมิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 267, 268

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ประทับฟ้อง จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จ เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้มีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามคำฟ้อง ข้อ 1(ก)(ข)(ค) และข้อ 2 ตอนต้น แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามฟ้องข้อ 1(ก)(ข)(ค) และข้อ 2 ตอนต้น กับพิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ และมาตรา 194 หรือไม่ เห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับข้อหาตามฟ้องข้อ 1(ก)(ข)(ค) และข้อ 2 ตอนต้น โดยวินิจฉัยว่าหากรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2529ของบริษัทกิจกาญจน์เทรดดิ้ง จำกัด คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด รายงานจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม และ/หรือมติพิเศษ กรรมการเข้าใหม่กับบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 ถึง จ.7 เป็นเอกสารปลอม ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารก็คือบริษัทกิจกาญจน์เทรดดิ้งจำกัด มิใช่โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทเท่านั้น กับหากจำเลยที่ 2 นำเอกสารดังกล่าวไปแจ้งขอจดเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนของบริษัทกิจกาญจน์เทรดดิ้ง จำกัด และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการรับจดทะเบียนให้โดยเชื่อว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง ผู้เสียหายก็คือบริษัทกิจกาญจน์เทรดดิ้ง จำกัด มิใช่โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทดังกล่าวเช่นกัน ดังนี้ จะเห็นได้ว่าสำหรับข้อหาตามฟ้องข้อ 1(ก)(ข)(ค) และข้อ 2 ตอนต้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า มีการกระทำผิดในข้อหาดังกล่าวและจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ร่วมกันกระทำหรือไม่ โดยศาลชั้นต้นเพียงแต่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้นว่า หากข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์กล่าวหา ผู้เสียหายก็คือบริษัทกิจกาญจน์เทรดดิ้ง จำกัดส่วนโจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทยังถือไม่ได้ว่าเป็นผู้เสียหายด้วย เช่นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทกิจกาญจน์เทรดดิ้ง จำกัด ย่อมเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดในข้อหาตามฟ้องข้อ 1(ก)(ข)(ค) และข้อ 2 ตอนต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ และมาตรา 194 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยจึงชอบด้วยกฎหมาย

คดีคงเหลือปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดตามฟ้องข้อ 1(ก)(ข)(ค) และข้อ 2 ตอนต้น หรือไม่ เห็นว่า หากข้อเท็จจริงได้ความว่า มีการกระทำผิดตามฟ้องในแต่ละข้อหาดังกล่าวจริง บริษัทกิจกาญจน์เทรดดิ้ง จำกัด ตลอดทั้งบรรดาผู้ถือหุ้นและกรรมการย่อมได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการกระทำนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทดังกล่าว จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)

พิพากษายืน

Share