คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 ลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถเฉี่ยวชนกับรถที่ น.ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับสวนทางมาเป็นเหตุให้ ส.ภริยาโจทก์ในรถที่ น.ขับถึงแก่ความตายจำเลยที่ 4 ถูกฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วว่า จำเลยที่ 4 มิได้ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คำพิพากษามีผลผูกพันเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย หาผูกพัน น. หรือจำเลยที่ 2 นายจ้างของ น. ซึ่งมิใช่คู่ความในคดีอาญาด้วยไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงอาจนำสืบต่อสู้ได้ว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยที่ 4. มิใช่เกิดจากความผิดของ น.เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น. ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ส.ภริยาโจทก์ตายจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างของตนได้กระทำไปในทางการที่จ้าง
ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพและค่าปลงศพผู้ตาย โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายมีสิทธิที่จะเรียกได้
ค่าขาดสิทธิที่โจทก์จะได้รับอุปการะเลี้ยงดูจาก ส.ผู้ตายมีตามกฎหมาย โดยไม่จำต้องคำนึงถึงความเป็นจริง จึงไม่ต้องพิจารณาว่าขณะถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย ส.มีรายได้และให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย70,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ยกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีคงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกนั้นเป็นอันยุติตามคำฟ้องคำให้การและทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน2522 เวลาประมาณ 14.30 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำแข็งหมายเลขทะเบียนขน พ.บ. 00319 ไปตามถนนสายเพชรบุรี-บ้านแหลม จากอำเภอเมืองเพชรบุรีมุ่งหน้าจะไปอำเภอบ้านแหลม ครั้นถึงตำบลหนองโสน นายน้อยลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขับรถยนต์โดยสารสองแถวหมายเลขทะเบียน พ.บ. 03127 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 สวนทางมาและเกิดเฉี่ยวชนกัน เป็นเหตุให้นางสายใจ มีวาสนา ภริยาของโจทก์กับบุคคลอื่นอีกสองคนซึ่งโดยสารมาในรถยนต์โดยสารสองแถวที่นายน้อยขับถึงแก่ความตายหลังจากเกิดเหตุแล้วนายน้อยได้หลบหนีไป ส่วนจำเลยที่ 4 ถูกจับมาสอบสวนดำเนินคดีในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย บาดเจ็บสาหัสและบาดเจ็บแล้วหลบหนี ศาลทหารกรุงเทพ (ศาลจังหวัดเพชรบุรี)พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์โดยประมาท และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 หลบหนี พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเป็นข้อแรกว่า นายน้อยลูกจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นางสายใจ มีวาสนา ภริยาของโจทก์ถึงแก่ความตายหรือไม่” ฯลฯ

“ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานของทุกฝ่ายแล้ว เห็นว่านางสมใจภริยาของโจทก์นั่งมาในรถยนต์ที่นายน้อยขับ และถึงแก่ความตายเพราะรถยนต์ที่นายน้อยขับกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชน แม้จำเลยที่ 4 จะถูกฟ้องเป็นคดีอาญาฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และศาลมีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วว่าพยานหลักฐานของโจทก์ รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์โดยประมาท คำพิพากษานั้นคงมีผลผูกพันเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย หาผูกพันนายน้อยหรือจำเลยที่ 1 และที่ 2 นายจ้างของนายน้อยซึ่งมิใช่คู่ความในคดีอาญาด้วยไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงอาจนำสืบได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 4 มิใช่จากความผิดของนายน้อย โจทก์มีสิบตำรวจเอกทองหล่อ บำรุงพงศ์ เป็นพยานว่า ขณะเกิดเหตุพยานนั่งมาในรถยนต์โดยสารสองแถวคันแรก เห็นรถยนต์บรรทุกน้ำแข็งวิ่งแซงรถยนต์บรรทุกสีส้มซึ่งจอดอยู่ทางด้านซ้ายมือของรถยนต์บรรทุกน้ำแข็งแล้วกินทางเข้ามาชนรถยนต์โดยสารสองแถวคันที่สอง แต่ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 39/2523 ของศาลทหารกรุงเทพ (ศาลจังหวัดเพชรบุรี) ซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยาน ศาลทหารกรุงเทพ (ศาลจังหวัดเพชรบุรี) วินิจฉัยว่า รถยนต์บรรทุกของกรมทางหลวงจอดอยู่ข้างทางด้านขวามือเมื่อมุ่งหน้าไปทางอำเภอบ้านแหลม รถยนต์โดยสารสองแถวแล่นแซงรถยนต์บรรทุกของกรมทางหลวงล้ำเข้าไปในเส้นทางรถยนต์บรรทุกน้ำแข็งที่จำเลยที่ 4 ขับจึงเกิดเหตุชนกัน ร้อยตำรวจโทสุวรรณ ผดุงอรรถพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้สอบสวนคดีอาญา เบิกความว่า ขณะที่พยานออกไปตรวจที่เกิดเหตุพบว่ามีรอยซ่อมถนนใหม่ ๆ ในช่องทางวิ่งของรถยนต์โดยสารสองแถว พยานได้ทำแผนที่สังเขปไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 39/2523 ตามแผนที่ดังกล่าวปรากฏว่า รถเฉี่ยวชนกันเมื่อรถยนต์โดยสารสองแถวแล่นเลยถนนตอนที่มีรอยซ่อมไปได้เล็กน้อย จำเลยที่ 3 และที่ 4 อ้างจำเลยที่ 4 และนายอดีตหรือหมึก เรืองจันทร์ ซึ่งนั่งมาในรถยนต์บรรทุกน้ำแข็ง เป็นพยานเบิกความต้องกันว่า ขณะที่จำเลยที่ 4 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำแข็งแล่นไปถึงทางโค้งใกล้วัดสิงห์ มีรถยนต์กระบะของกรมทางหลวงจอดซ่อมถนนอยู่ทางด้านขวามือ แล้วรถยนต์โดยสารสองแถวคันหนึ่งก็แล่นแซงรถยนต์กระบะของกรมทางหลวงเข้ามาในทางวิ่งของรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับ จำเลยที่ 4 หักรถหลบไปทางด้านซ้าย รถยนต์โดยสารสองแถวคันแรกจึงแล่นพ้นไปได้ แต่คันที่สองแล่นตามเข้ามาเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับ จนเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับเสียหลักตกลงไปในทางด้านขวามือจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีพยานปากใดเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุมีรถยนต์ของกรมทางหลวงจอดซ่อมถนนอยู่ในทางเดินรถยนต์บรรทุกน้ำแข็งที่จำเลยที่ 4 ขับนอกจากนี้ยังได้ความจากร้อยตำรวจโทสุวรรณ ผดุงอรรถพยานโจทก์ว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับมีรอยชนตั้งแต่กันชนหน้าตลอดไปถึงช่วงล้อหลัง ส่วนรถยนต์โดยสารสองแถวมีรอยชนที่ตัวถังด้านขวาตั้งแต่ด้านหลังคนขับไปตลอดท้ายรถและหลังจากชนกันแล้วรถยนต์โดยสารสองแถวแล่นไปหยุดอยู่บนถนนทางด้านซ้ายมือ ตามสภาพดังกล่าวแสดงว่า รถยนต์โดยสารสองแถวนน่าจะแล่นกินทางเข้าไปในทางรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับแล้วหักหลบไปทางด้านซ้ายเพื่อจะกลับเข้าเส้นทางของตน แต่หลบไม่พ้นจึงชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับตรงมา ถ้าหากรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับแล่นกินทางเข้าไปในทางของรถยนต์โดยสารสองแถวและชนกันขณะที่รถยนต์โดยสารสองแถวหักหลบไปทางด้าน ซ้ายมือ รถยนต์โดยสารสองแถวก็คงจะถูกชนกระเด็นตกลงไปข้างถนนไม่น่าจะทรงตัวอยู่ได้ส่วนที่ปรากฏในแผนที่สังเขปหมาย จ.1 ว่า มีร่องรอยเศษสีและเศษไม้หล่นอยู่บนถนนทางด้านขวามือเมื่อมุ่งหน้าไปทางอำเภอบ้านแหลม และจุดชนอยู่ที่กลางถนนตรงจุดหมายเลข 4 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า รถยนต์ของทั้งสองฝ่ายชนกันรุนแรงมาก เศษสีและเศษไม้อาจจะกระเด็นไปไกลจากจุดที่ชนกัน ทั้งแผนที่สังเขปดังกล่าวร้อยตำรวจโทสุวรรณก็เพิ่งจัดทำหลังจากเกิดเหตุแล้วหลายชั่วโมงเศษสีและเศษไม้อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนที่ไปจากจุดเดิมได้ ที่ร้อยตำรวจโทสุวรรณระบุไว้ในแผนที่สังเขปว่าจุดหมายเลข 5 เป็นจุดที่รถชนกันเป็นจุดที่รถชนกัน จึงเป็นเพียงการสันนิษฐานตามสภาพที่พบเห็นยังฟังไม่ได้แน่นอน อนึ่ง นายน้อยคนขับรถยนต์โดยสารสองแถวก็หลบหนีไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถอ้างมาเบิกความเป็นพยานได้ หากรถยนต์โดยสารสองแถวถูกชนในเส้นทางของตน ก็ไม่มีเหตุอย่างใดที่นายน้อยจะหลบหนี ศาลฎีกาเชื่อว่ารถยนต์โดยสารสองแถวแล่นแซงรถยนต์ของกรมทางหลวงซึ่งจอดซ่อมถนนอยู่ล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับแล้วเกิดเฉี่ยวชนกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายน้อยลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นางสายใจ มีวาสนา ภริยาของโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1และที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างของตนได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิด ย่อมมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา

โจทก์นำสืบว่า นางสายใจภริยาของโจทก์อยู่กินร่วมกับโจทก์มาจนกระทั่งถึงแก่ความตาย โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการจัดการศพไปตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 นอกจากนี้ยังเสียค่าใช้จ่ายในการทำบุญศพเมื่อครบ 7 วัน 50 วันและ 100 วันอีกด้วย รวมค่าใช้จ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 24,000 บาท ขณะโจทก์ฟ้องยังมิได้ปลงศพ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพอีกประมาณ 46,000 บาท รายการค่าใช้จ่ายปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 ขณะยังมีชีวิตอยู่ นางสายใจค้าขายผลไม้ร่วมกับบุตร มีรายได้ประมาณเดือนละ 2,000 บาท และแบ่งเงินให้โจทก์ใช้จ่ายด้วย

จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพตังแต่แรกจนเผาเป็นเงินประมาณ 8,000 บาทเท่านั้น นางสายใจภริยาของโจทก์มิได้ประกอบอาชีพอะไร จึงมิได้อุปการะโจทก์

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพและค่าปลงศพผู้ตายนั้น โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายมีสิทธิที่จะเรียกได้ โจทก์นำสืบแสดงรายการค่าใช้จ่ายตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 และ จ.6 ถึงแม้รายจ่ายบางรายการจะไม่จำเป็นและบางรายการมีจำนวนมากเกินสมควร แต่ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้วและเห็นสมควรกำหนดค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นให้โจทก์รวมเป็นเงิน 30,000 บาท นับว่าสมควรแก่ฐานะของผู้ตายและทายาทประกอบกับธรรมเนียมประเพณีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นค่าขาดสิทธิที่โจทก์จะได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายซึ่งมีตามกฎหมายโดยไม่จำต้องคำนึงถึงความเป็นจริงดังนั้น จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าในขณะถูกทำละเมิดถึงแก่ความตาย นางสมใจภริยาของโจทก์มีรายได้และให้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ 40,000 บาทนั้น นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแก่ฐานะของผู้ตายและฐานะของโจทก์แล้ว”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share