คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญา เมื่อโจทก์ร่วมแต่งตั้งให้ ท. เป็นทนายความโดยให้มีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา ท. จึงลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์แทนโจทก์ร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 62 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โดยไม่จำต้องรอให้โจทก์ร่วมเป็นผู้ลงลายมือชื่อด้วยตนเองข้ออ้างของทนายโจทก์ร่วมที่ว่ายังไม่ได้รับแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อกลับคืนมาจึงยังไม่สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันศาลจะพึงขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้โจทก์ร่วมได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 83 จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณา นายวิชัย วัฒนกิตานนท์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโดยอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2541 ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2542 ทนายโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน อ้างว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังอยู่ในระหว่างการพิมพ์ ไม่สามารถขอถ่ายสำเนาคำเบิกความพยานและคำพิพากษาได้ทัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 ครั้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ทนายโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วันเป็นครั้งที่สอง โดยอ้างว่าเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษา คำเบิกความพยานและคดีมีข้อยุ่งยากประกอบกับโจทก์ร่วมซึ่งเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนถูกคนร้ายควบคุมตัวไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ ทนายโจทก์ร่วมจะต้องเดินทางไปยังประเทศดังกล่าวกับภรรยาโจทก์ร่วมเพื่อช่วยเหลือและเพื่อให้โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2542 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2542ทนายโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่สามโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังไม่สามารถลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ได้ทนายโจทก์ร่วมได้ฝากแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ไว้เพื่อให้โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อและส่งกลับมาให้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับจึงขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ไปอีก 15 วันนับถัดจากวันที่ 4 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่มีเหตุสมควร ไม่อนุญาต ยกคำร้อง

โจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2541 ว่า โจทก์ร่วมแต่งตั้งให้นายทนงศักดิ์ จุลภักดิ์ เป็นทนายความในคดีนี้โดยให้มีอำนาจใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาด้วย นายทนงศักดิ์จึงสามารถลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์แทนโจทก์ร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โดยไม่จำต้องรอให้โจทก์ร่วมเป็นผู้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ข้ออ้างของทนายโจทก์ร่วมตามคำร้องที่ว่ายังไม่ได้รับแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อกลับคืนมาจึงยังไม่สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันศาลจะพึงขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้โจทก์ร่วมได้ ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share