คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 457/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคารตามเช็คได้มอบเช็คพิพาทให้แก่บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าประเภทบัญชีกระแสรายวัน จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการที่มีอำนาจได้ลงลายมือชื่อและประทับตราจำเลยที่ 1 ในช่องผู้สั่งจ่าย ก็เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง และมาตรา 900 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คต่อผู้ทรงเป็นส่วนตัวหากจำเลยที่ 2 กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เพราะปฏิบัติหน้าที่บกพร่องก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 หรือผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,750 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 318,750 บาท

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์และจำเลยที่ 3 ได้คบคิดกันฉ้อฉลนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 3 และโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันของบริษัทเอเซีย บัตตัน จำกัด ได้เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน เช็คพิพาทดังกล่าวจำเลยที่ 3 ได้ยืมไปจากจำเลยที่ 1 โดยไม่มีมูลหนี้ระหว่างกัน และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้กระทำการดังกล่าวในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในมูลหนี้ดังกล่าวเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 318,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และนางอุไรวรรณ ศรีหิรัญพัลลภ เป็นกรรมการ กรรมการคนหนึ่งคนใดลงชื่อและประทับตราสำคัญทำการแทนบริษัทได้ เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2538 จำเลยที่ 3 ได้นำเช็คพิพาทของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระรามที่ 2 เช็คเลขที่ 9278184 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 จำนวนเงิน 300,000 บาทมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ โดยเช็คดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายพร้อมกับประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลัง ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2538 โจทก์นำเช็คพิพาทไปขายลดให้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางแค แต่เมื่อเช็คถึงกำหนดการใช้เงิน ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงตัดเงินจากบัญชีโจทก์เพื่อนำไปชำระหนี้ตามเช็คพิพาท พร้อมกับคืนเช็คและใบเช็คคืนให้แก่โจทก์ ทั้งทางนำสืบของโจทก์คงได้ความว่า ธนาคารตามเช็คได้มอบเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าประเภทบัญชีกระแสรายวัน จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทแต่ได้แจ้งบอกห้ามการใช้เงินตามเช็คเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้ง ธนาคารจึงได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยเหตุผล “มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” ดังนี้ ตามกฎหมายต้องถือว่าจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อของตนและประทับตราจำเลยที่ 1 ในช่องผู้สั่งจ่าย ก็เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุให้กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 กระทำการผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ ปรากฏตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.5 และต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล” จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.2 หากไม่อาจเบิกเงินได้เพราะถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน และต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 แล้วว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ส่วนหากจำเลยที่ 2 กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เพราะปฏิบัติหน้าที่บกพร่องประการใดก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 หรือผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ต่อไป

พิพากษายืน

Share