คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4011/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามรายงานความเห็นของสมุห์บัญชีและปลัดเทศบาล ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจฎีกา และผู้เสนอความเห็นในฎีกาและเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาเบิกจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่ลูกจ้าง ได้เสนอเห็นควรให้เบิกจ่ายเงินบำเหน็จลูกจ้างให้แก่ลูกจ้าง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกเทศมนตรีผู้มีอำนาจอนุมัติฎีกา ได้มีคำสั่งอนุญาตในรายงานดังกล่าว ซึ่งมีความหมายว่าอนุญาตให้เบิกจ่ายเงินบำเหน็จลูกจ้างให้แก่ลูกจ้างได้นั่นเอง จึงเป็นการอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินบำเหน็จตามฎีกาดังกล่าวได้ แต่เนื่องจากเทศบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณประเภทเงินค่าทดแทนและประเภทเงินบำเหน็จไว้ในงบประมาณประจำปี จำเลยที่ 2 จึงทำหนังสือขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดขอยืมเงินสะสมของเทศบาลมาทดรองจ่ายไปพลางก่อน เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติมา ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีไปตามวาระแล้ว อ. นายกเทศมนตรีต่อจากจำเลยที่ 2 จึงได้ลงชื่ออนุมัติในหน้าฎีกาให้เบิกเงินตามฎีกามาจ่ายได้ เป็นที่เห็นได้ว่าถ้าหากเทศบาลได้ตั้งงบประมาณประเภทเงินทดแทนและประเภทเงินบำเหน็จไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 อนุญาตในรายงานดังกล่าว ก็ย่อมตั้งฎีกาเบิกเงินมาจ่ายได้ไม่ต้องขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอยืมเงินสะสมของเทศบาลมาทดรองจ่ายไปพลางก่อนแต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตในรายงานดังกล่าวย่อมเป็นการอนุมัติฎีกาตามความหมายในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ 24 นั่นเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นปลัดเทศบาล จำเลยที่ 2 เป็นนายกเทศมนตรี เมื่อระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2517 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2517 จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันจ่ายเงินบำเหน็จลูกจ้างเกินกว่าที่ควรจะจ่าย กล่าวคือ จำเลยร่วมกับพวกจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่นายสมกิจเกินไป8,050 บาท จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่นายสุนทรเกินไป 5,000 บาท รวมเงินที่จ่ายเกินไป 13,050 บาท ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้หัวหน้าหน่วยการคลังเป็นผู้ตรวจฎีกาและให้ปลัดเทศบาลหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนเสนอความเห็นในฎีกา ส่วนการอนุมัติฎีกาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเทศมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หากมีการจ่ายเงินไม่ถูกระเบียบ ให้ผู้อนุมัติฎีกา ผู้จ่ายเงิน และผู้ตรวจฎีกา ผู้เสนอความเห็นในฎีกาและผู้เบิกเงินร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจนครบ นายประกอบและนายองอาจได้ร่วมกันชดใช้เงินส่วนที่ตนต้องรับผิดชอบจำนวน 7,250 บาทคืนแก่โจทก์แล้วคงเหลือเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้คืนให้โจทก์อีก 5,800 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 5,800บาทแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายองอาจเป็นนายกเทศมนตรีต่อจากจำเลยที่ 2เป็นผู้อนุมัติฎีกาในขั้นสุดท้าย ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ข้อ 24 หรือไม่

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.9 เป็นรายงานความเห็นของสมุห์บัญชีและปลัดเทศบาลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจฎีกาและผู้เสนอความเห็นในฎีกาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 24 ดังกล่าว ได้เสนอเห็นควรให้เบิกจ่ายเงินบำเหน็จลูกจ้างให้แก่นายสมกิจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาเบิกจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่ลูกจ้าง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายกเทศมนตรีผู้มีอำนาจอนุมัติฎีกาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 24 ดังกล่าวได้มีคำสั่งอนุญาต ซึ่งมีความหมายว่า อนุญาตให้เบิกจ่ายเงินบำเหน็จลูกจ้างให้แก่นายสมกิจได้นั่นเอง จึงเป็นการอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินบำเหน็จตามฎีกาดังกล่าวได้ แต่เนื่องจากเทศบาลเมืองอุทัยธานีไม่ได้ตั้งงบประมาณประเภทเงินค่าทดแทนและประเภทเงินบำเหน็จไว้ในงบประมาณ พ.ศ. 2518 จำเลยที่ 2 จึงทำหนังสือขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีขอยืมเงินสะสมของเทศบาลมาทดรองจ่ายไปพลางก่อน เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีอนุมัติแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานีไปตามวาระแล้ว นายองอาจนายกเทศมนตรีต่อจากจำเลยที่ 2 จึงได้ลงชื่ออนุมัติให้เบิกเงินตามฎีกามาจ่ายได้ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นที่เห็นได้ว่าถ้าหากเทศบาลเมืองอุทัยธานีได้ตั้งงบประมาณประเภทเงินทดแทนและประเภทเงินบำเหน็จไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 อนุญาตตามเอกสารหมาย จ.9 ก็ย่อมตั้งฎีกาเบิกเงินมาจ่ายได้โดยไม่ต้องขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี เพื่อขอยืมเงินสะสมของเทศบาลมาทดรองจ่ายไปพลางก่อนแต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตในเอกสารหมาย จ.9 ย่อมเป็นการอนุมัติฎีกาตามความหมายในระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 24 ดังกล่าวนั่นเอง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตรวจสอบฎีกาให้ถูกต้องเสียก่อนลงชื่ออนุญาตให้เบิกจ่ายได้แล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทักท้วงเป็นลายลักษ์อักษรแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงชื่ออนุมัติในหน้าฎีกาเอกสารหมาย จ.2 เพราะพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีไปตามวาระแล้วก็ดี จำเลยที่ 2 ก็ไม่พ้นความรับผิด

พิพากษายืน

Share