คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4813/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา206โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปแม้ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ระบุชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำละเมิดในวันใดแน่แต่โจทก์ขอดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องในจำนวนน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์ควรได้รับนับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิดวันสุดท้ายถึงวันฟ้องศาลย่อมกำหนดดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องให้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างพัฒนาแปลงเกษตรกรรมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเมื่อวันที่9 กรกฎาคม 2530 และเสร็จสิ้นประมาณเดือนสิงหาคม 2531 ปรากฏว่าในระหว่างวันเวลาดังกล่าวจำเลยลำเลียงเครื่องมือวัสดุการก่อสร้างเข้าไปในบริเวณที่ก่อสร้างใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อ แล่นผ่านสะพานไม้บ้านโคกจุฬาของโจทก์ด้วยน้ำหนักบรรทุกเกินกว่า 10 ตันซึ่งโจทก์มีป้ายบอกน้ำหนักห้ามรถยนต์บรรทุกน้ำหนักรวมเกิน 10 ตันการกระทำของจำเลยเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยทำสะพานไม้ข้ามคลองบ้านโคกจุฬาของโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 108,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 16,753.25 บาท และให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 108,710 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 108,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยก่อนฟ้องได้หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องและนำสืบแล้วว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยใช้รถบรรทุกสิบล้อขนวัสดุอุปกรณ์น้ำหนักเกินกว่ากำหนดที่จะข้ามสะพานไม้ได้ผ่านสะพานไม้ของโจทก์หลายครั้งระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม 2530 จนถึงประมาณเดือนสิงหาคม 2531ระยะเวลาดังกล่าวย่อมเป็นฐานให้โจทก์เริ่มคำนวณดอกเบี้ยไปถึงวันฟ้องได้ ทั้งดอกเบี้ยที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,753.25 บาท ก็ยังน้อยกว่าดอกเบี้ยที่คำนวณนับแต่วันที่จำเลยทำงานแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างซึ่งเป็นวันสุดท้ายแห่งการทำละเมิดของจำเลย เพราะโจทก์คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่25 พฤศจิกายน 2531 ซึ่งเป็นวันหลังจากทำละเมิดแล้ว โจทก์จึงควรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้รถบรรทุกสิบล้อขนวัสดุอุปกรณ์ผ่านสะพานไม้ของโจทก์เป็นเหตุให้สะพานไม้ของโจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 108,710 บาทเหตุละเมิดเกิดระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินว่าจ้างให้จำเลยเข้าไปพัฒนาแปลงเกษตรและงานแล้วเสร็จในปลายปี 2531 เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเหตุละเมิดต้องเกิดระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม 2530 ถึงปลายปี 2531แต่ตามใบตรวจรับงานจ้างเอกสารหมาย จ.6 ระบุว่างานแล้วเสร็จวันที่ 10 สิงหาคม 2531 ดังนั้น การกระทำละเมิดของจำเลยจึงเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว หรืออย่างน้อยเหตุละเมิดก็สิ้นสุดลงในวันที่ 10 สิงหาคม 2531 ซึ่งเมื่อมีการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดเป็นต้นไป ส่วนปัญหาว่าตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ระบุแจ้งชัดว่า จำเลยกระทำละเมิดในวันใดแน่ เมื่อพิจารณาจำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกมาก่อนฟ้อง คำนวณแล้วน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์ควรได้รับนับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2531 ดอกเบี้ยในส่วนนี้จึงกำหนดให้โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบว่า เหตุละเมิดเกิดวันเดือนปีใด จึงไม่มีฐานที่จะคิดคำนวณดอกเบี้ยให้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยก่อนฟ้องแก่โจทก์จำนวน 16,753.25 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share