คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3599/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งจัดลำดับทรัพย์สินที่จะขายจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี คัดค้านการจัดลำดับในการขายทอดตลาดทรัพย์สินเจ้าพนักงานบังคับคดี เพียงแต่จดคำคัดค้านของจำเลยไว้แล้วก็ขายทอดตลาดทรัพย์สิน ไปในวันนั้นโดยไม่เลื่อนการขายไปให้พ้นระยะเวลาซึ่งให้นำเรื่อง ขึ้นสู่ศาลได้ก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง การขายทอดตลาด จึงไม่ชอบจำเลยขอให้เพิกถอนการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่ได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นลง แต่ต้องไม่ช้า กว่า8 วันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินยืมศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงนำยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1202 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1270 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ในวันนัดขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27เมษายน 2533 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กำหนดให้มีการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1202 ก่อน จำเลยที่ 2 ได้ร้องคัดค้านขอให้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1270 ก่อน เพราะมีราคามาก หากขายแล้วอาจจะได้ราคาพอแก่หนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งอาจจะไม่ต้องขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1202 ต่อไปแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่รับฟังข้อคัดค้านของจำเลยที่ 2 และได้เคาะไม้ขายที่ดินไปในวันนั้นทันที โดยไม่เลื่อนการขายไปให้พ้นระยะที่อาจนำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้ จึงเป็นการขายที่ไม่ชอบ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ขอให้สั่งยกเลิกการขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 309 วรรคสอง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จำแนกประเภทและจัดลำดับทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จำแนกประเภทหรือจัดลำดับในการขายทรัพย์สินนั้นใหม่ได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำคัดค้านเช่นว่านั้น จำเลยที่ 2 จะต้องยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในสองวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้นคำสั่งชี้ขาดของศาลให้เป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง หรือจนกว่าจะได้พ้นระยะเวลาซึ่งให้นำเรื่องขึ้นสู้ศาลได้ สำหรับกรณีนี้ได้ความว่า เมื่อจำเลยคัดค้านการจัดลำดับในการขายทอดตลาดทรัพย์สิน เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่จดคำคัดค้านของจำเลยไว้ แล้วก็ขายทอดตลาดทรัพย์สินไปในวันนั้น โดยไม่เลื่อนการขายไปให้พ้นระยะเวลาซึ่งให้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้ก่อน จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าว การขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ จำเลยชอบที่จะร้องขอให้เพิกถอนการขายและประกาศขายทอดตลาดใหม่ได้ อย่างไรก็ดีแม้จำเลยจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ แต่ก็ยังตกอยู่ในบังคับของมาตรา 296 วรรคสอง กล่าวคือ จำเลยจะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกกระบวนวิธีการบังคับได้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้ทราบถึงการฝ่าฝืนการขายทอดตลาดทรัพย์สินเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2533จำเลยที่ 2 เพิ่งมายื่นคำขอต่อศาลให้เพิกถอนการขายทอดตลาด เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2533 จึงล่วงเลยเวลาที่จะยื่นคำขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 แล้ว
พิพากษายืน.

Share