คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจดวันสั่งจ่าย ‘ตามที่ถูกต้องแท้จริง’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 ประกอบด้วยมาตรา 989หมายถึงวันที่ผู้ทรงเช็คเห็นสมควรที่จะจดหรือกรอกลงในเช็คซึ่งผู้ทรงมีสิทธิกระทำได้โดยพลการ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ใดแจ้งให้จด ส่วนคำว่า’ทำการโดยสุจริต’ นั้น กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนทำการโดยสุจริตตาม นัยมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากจำเลยหรือผู้ใดอ้างว่าการจดหรือกรอกวันสั่งจ่ายโดยไม่สุจริตผู้กล่าวอ้างต้องระบุให้ชัดแจ้งถึงเหตุที่ไม่สุจริต และมีหน้าที่นำสืบด้วย
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงจดวันสั่งจ่ายลงในเช็คภายหลังจากทราบว่าผู้สั่งจ่ายถึงแก่ความตายถือได้ว่าโจทก์ทำการโดยสุจริต
ในกรณีที่ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังถึงแก่ความตายบุคคลผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินหรือเช็คยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินหรือเช็คนั้น
กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คถึงแก่ความตาย ผู้ทรงมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากกองมรดกของผู้ตายได้ 2 วิธีคือ1. นำเช็คไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามเช็คถ้าธนาคารทราบว่าผู้สั่งจ่ายตายก็จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามมาตรา 992(2) เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุใดก็ตาม ผู้ทรงเช็คมีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกตลอดจนมีสิทธิฟ้องผู้สลักหลังเช็คด้วย หรือ 2. ผู้ทรงมีสิทธิทวงถามให้ชำระเงินตามเช็คจากทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกและผู้สลักหลังได้เลยถ้าผู้ถูกทวงถามไม่ชำระเงินตามเช็ค ผู้ทรงก็มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คได้โดยไม่จำเป็นต้องนำเช็คไปยื่นหรือเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามมาตรา 990 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1003/2524)
แม้จำเลยจะได้ให้การต่อสู้ไว้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแต่จำเลยมิได้ขอให้ศาลชั้นต้นยกขึ้นเป็นประเด็นเพื่อวินิจฉัยถือว่าจำเลยสละข้อต่อสู้ในประเด็นข้อนี้แล้วและศาลก็ไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลย จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายบุญมีได้ออกเช็ค 2 ฉบับ ฉบับละ 10,000 บาท ให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยลงชื่อเป็นผู้รับอาวัล ต่อมาโจทก์ทราบว่านายบุญมีตายจึงนำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ยึดถือเช็คไว้ถึง 6 ปีแล้วจึงมาประทับตราลงวันที่เพื่อขอรับเงินตามเช็คเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ทวงหนี้ตามเช็คจากนายบุญมีในขณะที่นายบุญมียังมีชีวิตอยู่ เท่ากับเป็นการผ่อนเวลาให้ผู้สั่งจ่าย จำเลยในฐานะผู้รับอาวัลย่อมหลุดพ้นความรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เห็นว่าการออกเช็คเพื่อสั่งจ่ายเงินนั้น ถ้าผู้สั่งจ่ายประสงค์จะกำหนดวันสั่งจ่ายที่แน่นอน ผู้สั่งจ่ายก็จะจดแจ้งวันสั่งจ่ายลงในเช็คเลยแต่ถ้าไม่ประสงค์ที่จะกำหนดวันสั่งจ่าย ก็จะละเว้นไว้เพื่อให้ผู้ทรงเช็คจดวันสั่งจ่ายเอาเอง ซึ่งผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910วรรคห้าประกอบด้วยมาตรา 989 การจดวันสั่งจ่าย “ตาที่ถูกต้องแท้จริง” ตามบทบัญญัติกฎหมายมาตรานี้หมายความว่า วันที่ผู้ทรงเช็คเห็นสมควรที่จะจดหรือกรอกลงในเช็คนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่งผู้ทรงมีสิทธิที่จะจดหรือกรอกวันสั่งจ่ายได้โดยพลการไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ใดผู้หนึ่งบอกกล่าวหรือแจ้งให้จด และคำว่า “ทำการโดยสุจริต”นั้น กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนทำการโดยสุจริตตามนัยมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากจำเลยหรือผู้ใดอ้างว่าการจดหรือกรอกวันสั่งจ่ายดังกล่าวไม่สุจริต ผู้กล่าวอ้างจะต้องระบุให้แจ้งชัดถึงเหตุที่ไม่สุจริตนั้นและมีหน้าที่นำสืบตามที่ตนกล่าวอ้างด้วย การที่โจทก์จดวันสั่งจ่ายลงในเช็คภายหลังจากทราบว่าผู้สั่งจ่ายถึงแก่ความตายนั้น ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คทำการโดยสุจริตเพราะมีอำนาจที่จะกระทำได้ดังกล่าวข้างต้น มิใช่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตดังที่จำเลยฎีกา

ในกรณีที่ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังถึงแก่ความตาย ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ความรับผิดตามตั๋วเงินหรือเช็คระงับสิ้นไป บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินหรือเช็คยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินหรือเช็คนั้น กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็คถึงแก่ความตายนั้น ผู้ทรงเช็คมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากกองมรดกของผู้ตายได้และผู้ทรงมีวิธีเรียกร้อง 2 ประการคือ ประการแรกผู้ทรงนำเช็คไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามเช็คหรือนำไปเรียกเก็บเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 990 ถ้าธนาคารไม่ทราบการตายของผู้สั่งจ่ายเงินธนาคารก็อาจใช้เงินตามเช็คนั้นหรือปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นด้วยเหตุต่าง ๆ แล้วแต่กรณี ถ้าธนาคารทราบว่าผู้สั่งจ่ายตายก็จะปฏิเสธการจ่ายเงินตามมาตรา 992(2) เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยประการใดก็ตาม ผู้ทรงเช็คก็มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกของผู้สั่งจ่าย ตลอดจนมีสิทธิฟ้องผู้สลักหลังตามเช็คด้วย ประการที่สองถ้าผู้ทรงไม่ประสงค์ที่จะกระทำตามประการแรก ผู้ทรงมีสิทธิที่จะทวงถามให้ชำระเงินตามเช็คจากทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังได้เลย ถ้าผู้ถูกทวงถามไม่ชำระเงินตามเช็ค ผู้ทรงก็มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อธนาคารรู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้นเป็นอันสิ้นสุดไปตามมาตรา 992(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ทรงไม่จำเป็นต้องนำเช็คไปยื่นหรือเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามมาตรา 990 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1003/2524)

อนึ่งที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่จำเลยมิได้ขอให้ศาลชั้นต้นยกขึ้นเป็นประเด็นเพื่อวินิจฉัย ถือว่าจำเลยสละข้อต่อสู้ในประเด็นข้อนี้แล้ว และศาลก็ไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลย จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยในข้อนี้

พิพากษายืน

Share