คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3377/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) จำเลยร่วมให้การว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุกับจำเลยร่วม จำเลยร่วมรับประกันภัยค้ำจุนจำเลยที่ 3 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย คำให้การของจำเลยร่วมเป็นปรปักษ์ทั้งต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย จำเลยร่วมก็ได้อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ในชั้นอุทธรณ์คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยร่วม จำเลยที่ 2 ก็ต้องถือว่าเป็นจำเลยอุทธรณ์ด้วย การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยร่วมเฉพาะโจทก์ ไม่ส่งแก่จำเลยที่ 2ด้วย จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยมิได้สั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขให้ถูกต้อง ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 247 ประกอบด้วย มาตรา 243(2) และการส่งสำเนาอุทธรณ์จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 229 แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ขึ้นมา ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมชำระค่าเสียหาย 100,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยโดยให้จำเลยร่วมรับผิดไม่เกินวงเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งโดยให้จำเลยร่วมส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยร่วมแก่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 ทำคำแก้อุทธรณ์เพื่อส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายในอายุอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ศาลชั้นต้นต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยร่วมให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ และการที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีไปโดยที่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยร่วมนั้น ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) จำเลยร่วมให้การว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุกับจำเลยร่วม จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยร่วม จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงไม่อาจอาศัยสิทธิตามสัญญาประกันภัยไล่เบี้ยเอากับจำเลยร่วมได้หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แพ้คดี จำเลยร่วมรับประกันภัยค้ำจุนจำเลยที่ 3 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยร่วมก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ดังนั้น คำให้การของจำเลยร่วมจึงเป็นปรปักษ์ทั้งต่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย จำเลยร่วมก็ได้อุทธรณ์ว่าจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ (ด้วยเหตุผลตามที่ปรากฏในคำให้การของจำเลยร่วม) ในชั้นอุทธรณ์คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยร่วม สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นต้องถือว่าเป็นจำเลยอุทธรณ์ด้วย การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยร่วมและสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235 และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยมิได้สั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235 เสียก่อนนั้น ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 243(2) ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น และโดยที่การส่งสำเนาอุทธรณ์จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ขึ้นมาก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง”

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยร่วมให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share