แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโดยแสดงหลักฐานหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและว่าจำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีถึงวันฟ้องเป็นเงินเท่าใด ไม่จำเป็นต้องแนบบัญชีกระแสรายวันมาพร้อมฟ้อง เพราะเป็นเรื่องที่จะนำสืบกันในชั้นพิจารณาได้ ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ 935,458.20บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 13 ต่อปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2523หลังจากนั้นให้คิดร้อยละ 13 ต่อปี ต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินต้น 674,689.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 13 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2519 ถึงวันที่2 ธันวาคม 2519 และให้ชำระดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นต่อไปอีกจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ร่วมใช้เงินต้น 610,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นและไม่ทบต้นเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่แนบบัญชีกระแสรายวันมาพร้อมฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโดยแสดงหลักฐานหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และบรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์ถึงวันฟ้องอยู่เป็นเงินเท่าใด ย่อมเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาพอสมควรที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องแนบบัญชีกระแสรายวันมาพร้อมฟ้อง เป็นเรื่องที่จะนำสืบกันในชั้นพิจารณาได้โดยเฉพาะคดีนี้โจทก์ก็ได้แสดงบัญชีกระแสรายวันมาพร้อมกับคำร้องขอแก้ไขฟ้องลงวันที่ 12 ธันวาคม 2523 แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุมดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า บัญชีกระแสรายวันที่โจทก์อ้างตามเอกสารหมายจ.8 ถึง จ.18 ทำเป็นภาษาอังกฤษศาลไม่ควรรับฟังนั้น ปรากฏว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ซึ่งแสดงชื่อของจำเลยที่ 1เป็นภาษาไทยไว้โดยแจ้งชัด ตัวเลขที่แสดงรายการหนี้สินไว้ในบัญชีนั้นแม้จะเป็นเลขแบบโรมัน แต่ก็เป็นตัวเลขที่ใช้กันทั่วไปจนเป็นที่รู้จักกันดีในภาษาไทย แม้บางแห่งจะมีตัวอักษรภาษาอังกฤษปนอยู่บ้างก็มีคำแปลภาษาไทยกำกับไว้โดยแจ้งชัดในเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.18 ซึ่งจำเลยอาจเข้าใจความหมายได้ดีอยู่แล้วจึงไม่มีเหตุที่จะไม่ควรรับฟัง
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ดอกเบี้ยของหนี้รายนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เพราะโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2515 แล้วนั้นพยานหลักฐานในสำนวนหาปรากฏเช่นนั้นไม่ ตามบัญชีกระแสรายวันหมายจ.8 ถึง จ.18 กลับปรากฏว่าหลังจากวันที่ 27 สิงหาคม 2515 แล้ว จำเลยที่ 1ยังนำเงินเข้าบัญชีในธนาคารโจทก์เพื่อหักทอนบัญชีกันตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดเรื่อยมา แม้ในฎีกาของจำเลยที่ 2 เองก็ยังอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกหลายครั้ง ดังปรากฏในบัญชีกระแสรายวันหมาย จ.12, จ.13, จ.14 ซึ่งแสดงว่ายังไม่ได้เลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันดังที่อ้าง ฉะนั้นที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าดอกเบี้ยขาดอายุความเพราะเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม2515 จึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของธนาคารโจทก์กำหนดเป็นแบบฟอร์มไว้ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ เป็นการเอาเปรียบประชาชนจึงตกเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 บัญญัติยกเว้นไว้แล้วว่า ประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดหาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติเรื่องการห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้นในการกู้ยืมเงินไม่ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ซึ่งมีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดได้จึงหาตกเป็นโมฆะไม่”
พิพากษายืน