คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนักเรียนหัดขับรถยนต์ยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่จำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตขับขี่แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นครูฝึกสอนขับรถยนต์ ได้นั่งควบคุมไปด้วย ถนนที่จำเลยหัดขับนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นถนนสำหรับฝึกหัดขับรถยนต์ ในวันเวลาเกิดเหตุถนนตอนนั้นมีผู้คนพลุกพล่านฝนตกถนนลื่น จำเลยที่ 1 ขับจะเฉี่ยว รถสามล้อเครื่องหรือหักหลบรถสามล้อเครื่องไม่พ้น จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งควบคุมไปด้วยต้องเข้าช่วยถือพวงมาลัยและให้จำเลยที่ 1 ปล่อยมือ จำเลยที่ 1 จึงปล่อยมือแต่เท้ายังเหยียบคันเร่งน้ำมันอยู่ จำเลยที่ 2 หักพวงมาลัยเบนขวาเพื่อให้พ้นสามล้อเครื่อง เป็นเหตุให้รถพุ่งข้ามถนนชนต้นไม้และคนถึงบาดเจ็บและตาย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนักเรียนฝึกหัดขับรถยนต์ ยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ จำเลยที่ 2 เป็นช่างเครื่องยนต์ ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ แต่มิได้รับใบอนุญาตเป็นครูฝึกสอนขับรถยนต์ วันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้นำรถยนต์จิ๊บของโรงเรียนสอนขับรถยนต์ออกฝึกหัดขับไปตามท้องถนนหลวง โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 2 ควบคุมการฝึกสอนนั่งไปด้วยจำเลยทั้ง 2 ได้ร่วมกันกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้รถของจำเลยขับชนคนถึงตายและบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29(4), 66

จำเลยทั้ง 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 จำคุกคนละ 5 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ปล่อยจำเลยที่ 1

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งมาเรียนหัดขับรถยนต์ ถนนเตชะวณิช ในขณะเกิดเหตุเป็นเวลาที่มีคนพลุกพล่าน ฝนตกถนนลื่นและเป็นถนนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นถนนสำหรับฝึกหัดขับรถยนต์ ขณะเกิดเหตุนั้นแม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ปล่อยพวงมาลัยให้จำเลยที่ 2 ถือ จำเลยที่ 2 จึงหักพวงมาลัยไปทางขวาและเกิดเหตุขึ้นก็ดี ก็ปรากฏว่าก่อนนั้นจำเลยที่ 1 ก็ถือพวงมาลัยขับรถมาด้วยตนเอง ดังปรากฏจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ชั้นสอบสวน ในชั้นศาลจำเลยที่ 1 ก็ว่าจำเลยที่ 2 ร้องให้จำเลยที่ 1 ปล่อยมือ จำเลยที่ 1 จึงปล่อยมือแสดงอยู่ว่าในขณะนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขับรถมาในลักษณะที่น่าจะเป็นอันตรายอยู่แล้ว จะเฉี่ยวรถสามล้อเครื่องหรือหักหลบรถสามล้อเครื่องไม่พ้น จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งดูแลควบคุมอยู่ใกล้ชิดนั้นต้องเข้าช่วยถือพวงมาลัยและปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เองอยู่อีกว่า ไม่มีใครร้องเตือนให้ถอนคันเร่งน้ำมันคงได้ยินแต่เสียงว่าปล่อย จำเลยที่ 1 จึงปล่อยมือ ขณะนั้นจำเลยที่ 1เหยียบคันเร่งน้ำมันอยู่ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยังเหยียบคันเร่งน้ำมันอยู่ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 หักพวงมาลัยเบนขวาเพื่อให้พ้นจากรถสามล้อเครื่องซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าและกำลังชะลอเครื่องจะหยุดอยู่ จึงเป็นเหตุให้รถพุ่งข้ามถนนเข้าชนต้นไม้และคนตายและบาดเจ็บ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วย ที่เป็นเหตุให้เกิดเหตุขึ้นตามฟ้อง ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างเรียนหัดขับรถยนต์ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมของโรงเรียนหัดขับรถยนต์ จึงควรลงโทษจำเลยที่ 1 เบากว่าจำเลยที่ 2 พร้อมกันพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 3 ปีนอกจากที่แก้นี้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

Share