แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สินค้าพิพาท โจทก์ซื้อจากประเทศสิงคโปร์ ประเทศในภาคีอาเซียน และเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรที่ 38.14 ปรากฏว่า สินค้าพิพาทนอกจากจะมีคุณสมบัติกันการเป็นสนิมแล้ว ยังมีคุณสมบัติป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชันและป้องกันการกัดกร่อน ด้วย ดังนั้นสินค้าพิพาทจึงไม่ใช่สินค้าในรายการ “เฉพาะสิ่งปรุงแต่ง ที่ใช้สำหรับกันการเป็นสนิม” ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 10/2527 ที่จะได้ลดอัตราศุลกากรลงเหลือร้อยละ 60 ของอัตราที่เรียกเก็บ หรือเสียอากรขาเข้าร้อยละ 18 ของราคา แต่เป็นสินค้าในรายการ “อื่น ๆ” ในบัญชีท้ายประกาศดังกล่าว ซึ่งได้รับ ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 80 หรือต้องเสียอากรร้อยละ 24 ของราคา เมื่อการเรียกเก็บอากรขาเข้าถูกต้องแล้ว ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บแทนจำเลยที่ 2 จึง ถูกต้องด้วย ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ก่อนหรือไม่ต่อไป เพราะไม่เป็น ประโยชน์แก่คดี.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ชำระไว้คืน จำเลยให้การว่าภาษีต่าง ๆ ที่โจทก์ชำระไว้เป็นการชำระตามอัตราที่ถูกต้องตามกฎหมายและตามประกาศกระทรวงการคลังแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรที่เรียกเก็บเกินไปคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยกกับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้ามาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2530 ตามใบขนสินค้าเลขที่ 20-1332, 20-1333และ 20-1334 รวม 3 ใบขนนั้น ต้องเสียอากรขาเข้าร้อยละ 18 ของราคาหรือร้อยละ 24 ของราคา ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า สินค้าพิพาททั้ง 3ใบขนดังกล่าวเป็นสารเคมีที่โจทก์ซื้อจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศในภาคีอาเซียน และเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรที่ 38.14 โจทก์อ้างว่าสินค้าพิพาทเป็นสิ่งปรุงแต่งที่ใช้สำหรับกันการเป็นสนิมโดยเฉพาะ จึงได้รับลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 10/2527 (อช.19)เรื่องยกเลิกการลดและลดอัตราศุลกากรตามเอกสารหมาย จ.32 ลงเหลือร้อยละ 60 ของอัตราที่เรียกเก็บหรือเสียอากรขาเข้าร้อยละ 18ของราคา แต่จำเลยที่ 1 เห็นว่าสินค้าพิพาทนอกจากจะมีคุณสมบัติกันการเป็นสนิมแล้ว ยังมีคุณสมบัติป้องกันการรวมตัวของออกซิเจนหรือป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชั่น และป้องกันการผุกร่อนของผิวโลหะอีกด้วย สินค้าพิพาทจึงต้องจัดอยู่ในรายการ “อื่น ๆ” ของประกาศกระทรวงดังกล่าว ได้รับการลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 80ของอัตราที่เรียกเก็บหรือเสียค่าอากรขาเข้าร้อยละ 24 ของราคาปัญหาวินิจฉัยจึงอยู่ที่ว่า สินค้าพิพาทมีคุณสมบัติกันการเป็นสนิมเพียงอย่างเดียวหรือว่ามีคุณสมบัติป้องกันการรวมตัวของออกซิเจนและป้องกันการผุกร่อนของโลหะด้วย โจทก์นำสืบว่าสินค้าพิพาทมีคุณสมบัติป้องกันมิให้เกิดการรวมตัวของออกซิเจนหรือป้องกันมิให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งเป็นผลให้ไม่เกิดสนิม เมื่อไม่มีสนิมเครื่องยนต์ก็จะไม่ผุกร่อนอันเป็นผลพลอยได้จากการไม่เกิดสนิมสินค้าพิพาทจึงเป็นสารกันการเป็นสนิมเพียงอย่างเดียว ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าสินค้าพิพาทมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือกันการเป็นสนิมป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและป้องกันการผุกร่อนของโลหะโดยคุณสมบัติทั้ง 3 ประการดังกล่าวมีเท่าเทียมกัน สินค้าพิพาทจึงมิใช่เป็นสารกันการเป็นสนิมเพียงอย่างเดียว พิเคราะห์แล้วนางสาวพีระนุช นานา พยานจำเลยซึ่งสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเคมี เบิกความว่า โดยปกติน้ำมันเครื่องซึ่งเป็นสารไฮไดรคาร์บอนเมื่อเก็บไว้นาน ๆ และถูกความร้อนจะเกิดปฏิกิริยารวมตัวกับออกซิเจนเรียกว่าออกซิเดชั่น น้ำมันเครื่องก็จะเสื่อมสลายเป็นกรดอินทรีย์กรดดังกล่าวจะไปกัดชิ้นโลหะก่อให้เกิดสารอย่างหนึ่งเรียกว่าสารไม่ละลายน้ำมัน ก่อให้เกิดการอุดตันในท่อส่งน้ำมัน บางครั้งก่อให้เกิดตะกรันหรือคราบเหนียวเกาะท่อส่งน้ำมัน ทำให้คุณสมบัติของน้ำมันเครื่องเปลี่ยนไปโดยเกิดความหนืดขึ้น ทำให้เครื่องยนต์สึกหรอ วิธีป้องกันสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว ก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั้น สารทางเคมีที่ป้องกันปฏิกิริยาดังกล่าวเรียกว่า สารแอนตี้ออกซิแดนท์(ANTI OXIDANT) หรือออกซิเดชั่นอินฮิบิเตอร์ (OXIDATION INHIBITOR)คือสารที่เป็นสินค้าพิพาทในคดีนี้ ซึ่งนายวรพงษ์ ศิริกุลชยานนท์และนายพิชัย โตวิวิชญ์ พยานโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าสินค้าพิพาทเป็นสารป้องกันมิให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยเฉพาะนายพิชัยยังได้เบิกความอธิบายว่า เมื่อเติมน้ำมันเครื่องซึ่งสารไฮโดรคาร์บอนลงไปในเครื่องยนต์เมื่อเครื่องยนต์ทำงานจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่กับสารไฮโดรคาร์บอน ทำให้น้ำมันเครื่องนั้นเสื่อมสภาพลง ก่อให้เกิดสารต่าง ๆ ขึ้นหลายชนิด เช่น กรดและตะกอนที่ไม่ละลายในน้ำมันเมื่อเกิดสารดังกล่าวแล้ว ทำให้การเสียดสีของเครื่องยนต์มีมากขึ้นปฏิกิริยาดังกล่าวเรียกว่า ออกซิเดชั่น มีผลทำให้เกิดสนิมและการสึกกร่อนของเครื่องยนต์ได้ วิธีป้องกันจะใช้สารที่เรียกว่าแอนตี้ออกซิแดนท์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าออกซิเดชั่น อินฮิบิเตอร์ใส่ลงไปในน้ำมันเครื่อง เป็นการป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชั่นมีผลทำให้การเป็นสนิมและการสึกกร่อนของเครื่องยนต์น้อยลง คำเบิกความของนายพิชัยดังกล่าวมีสาระสำคัญตรงกับคำเบิกความของนางสาวพีระนุชให้รับฟังได้ว่า ปฏิกิริยาออกซิเดชั่นจะทำให้เกิดกรดและสารไม่ละลายในน้ำมันซึ่งจะเป็นผลทำให้เครื่องยนต์ถูกกัดกร่อนและสึกหรอ ดังนั้นการที่เครื่องยนต์เกิดการสึกกร่อนจึงมิใช่เกิดจากสนิมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากสารที่ไม่ละลายในน้ำมันทำให้น้ำมันเครื่องหนืดเกิดการเสียดสีมากอีกด้วย เมื่อเติมสารที่เป็นสินค้าพิพาทลงไปก็จะทำให้ไม่เกิดกรดและสิ่งที่ไม่ละลายในน้ำมัน จึงเห็นได้ว่าสินค้าพิพาทมิใช่มีคุณสมบัติเพียงกันการเป็นสนิทโดยเฉพาะแต่อย่างเดียว แต่ยังมีคุณสมบัติป้องกันการสึกกร่อนของเครื่องยนต์อันเกิดจากสารที่ไม่ละลายในน้ำมันอีกด้วย นอกจากนี้ในหนังสือของโจทก์มีถึงจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 26 โจทก์ก็ได้ยอมรับว่า สินค้าพิพาทมีคุณสมบัติหลักในด้านการป้องกันการรวมตัวกับออกซิเจนมากกว่าองค์ประกอบที่ทำหน้าที่อื่น ๆ เช่นการป้องกันสนิมการป้องกันการกัดกร่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สินค้าพิพาทนอกจากจะมีคุณสมบัติกันการเป็นสนิมแล้ว ยังมีคุณสมบัติป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและป้องกันการกัดกร่อนจริงดังที่จำเลยนำสืบ ดังนั้นสินค้าพิพาทจึงมิใช่สินค้าในรายการ “เฉพาะสิ่งปรุงแต่งที่ใช้สำหรับกันการเป็นสนิม” ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นสินค้าในรายการ “อื่น ๆ” ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังฉบับเดียวกัน ซึ่งได้รับลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 80หรือต้องเสียอากรร้อยละ 24 ของราคาตามที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บจากโจทก์ถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ต้องเสียอากรเพียงร้อยละ 18 ของราคานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
เมื่อการเรียกเก็บอากรขาเข้าสำหรับสินค้าพิพาทของจำเลยที่ 1ถูกต้องดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บแทนจำเลยที่ 2 จึงถูกต้องแล้วเช่นเดียวกันไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ก่อนหรือไม่ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1.