คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มติคณะกรรมการบริษัทให้จัดให้มีค้ำประกันสำหรับสมุหบัญชีในวงเงิน 30,000 บาท และพนักงานที่เกี่ยวกับการเงินคนละ10,000 บาทแต่สัญญาค้ำประกันที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ไม่ได้จำกัดวงเงินที่จะต้องรับผิดชอบนั้น ก็เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย มติของคณะกรรมการเป็นเพียงระเบียบภายในของบริษัท มิได้เกี่ยวกับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เมื่อจำเลยสมัครใจทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์อย่างใด ก็ต้องรับผิดชอบตามสัญญาที่ได้ทำไว้
ข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างอิงในฎีกา ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานขายสินค้าและบุหรี่ของบริษัทโจทก์ได้ทุจริตยักยอกเงินค่าบุหรี่ไป จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสมุหบัญชีของบริษัทโจทก์ได้ร่วมมือปกปิดไม่แจ้งให้คณะกรรมการบริษัทโจทก์ทราบ แต่กลับร่วมทำการทุจริตกับจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1, 2 ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1, 2 ใช้เงินที่ยักยอกไปจากโจทก์ หากจำเลยที่ 1, 2 ไม่ใช้หรือชำระไม่ครบ ก็ให้จำเลยที่ 3, 4 ใช้แทนจนครบ

จำเลยที่ 1 สู้ว่า ไม่เคยได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่ตามฟ้อง แต่ถูกเรียกไปทำงานนอกเหนือตำแหน่ง คณะกรรมการให้จำเลยหาประกัน จำเลยจึงให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน คดีโจทก์ขาดอายุความและฟ้องเคลือบคลุม

จำเลยที่ 2 สู้ว่า จำเลยที่ 2 ทำการโดยสุจริต มิได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และขาดอายุความ

จำเลยที่ 3 สู้ว่า สัญญาค้ำประกันที่โจทก์ฟ้อง นอกเหนือเกินคำสั่งของกรมการค้าภายใน และคณะกรรมการบริษัทโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ไปทำงานนอกเหนือหน้าที่ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดชอบ

จำเลยที่ 4 สู้ว่า สัญญาค้ำประกันทำนอกเหนือและเกินคำสั่งของคณะกรรมการบริษัทโจทก์และคำสั่งกรมการค้าภายใน ซึ่งให้ประกันจำเลยที่ 2 ภายในวงเงิน 30,000 บาท สัญญาค้ำประกันจึงเป็นโมฆะ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 3, 4 ต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1, 2 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ให้จำเลยที่ 1, 2 ใช้เงินแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1, 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 3, 4 ชำระแทนจนครบ

จำเลยที่ 3, 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 3, 4 ต่างมีสิทธิบริบูรณ์ในอันที่จะผูกพันตนกับบริษัทโจทก์ โดยจำกัดความรับผิดในวงเงินเท่าไรก็ได้ การที่จำเลยที่ 3, 4เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1, 2 โดยไม่จำกัดวงเงินที่จะต้องรับผิด ต้องถือว่าได้ยอมผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทโจทก์ด้วยใจสมัครแล้ว จะอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะหาได้ไม่ แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำเลยที่ 3, 4 เป็นการบังคับให้ต้องรับผิดเกินกว่าที่โจทก์เรียกร้อง ยังไม่ถูกต้อง พิพากษาแก้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 3, 4 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า มติคณะกรรมการได้จัดให้มีค้ำประกันสำหรับสมุหบัญชีในวงเงิน 30,000 บาท และพนักงานที่เกี่ยวกับการเงินคนละ10,000 บาท แต่สัญญาที่จำเลยที่ 3, 4 ทำไว้กับโจทก์ไม่ได้จำกัดวงเงินที่จะต้องรับผิดชอบนั้น เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ ชอบด้วยกฎหมายใช้บังคับได้มติของคณะกรรมการเป็นเพียงระเบียบภายในของบริษัทมิได้เกี่ยวกับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยสมัครใจทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์อย่างใด ก็ต้องรับผิดชอบตามสัญญาที่ได้ทำไว้ ขณะทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เป็นพนักงานขายสินค้าและบุหรี่ มีหน้าที่เก็บเงินหรือรับเงินราคาสินค้าและบุหรี่ส่งมอบสมุหบัญชี มิใช่มีหน้าที่เป็นเพียงคนงาน โจทก์ให้เข้าไปทำงานจนเกิดการเสียหายขึ้น นอกเหนือไปจากเจตนาของจำเลยที่ 3 ที่ได้ทำไว้กับโจทก์ สัญญาค้ำประกันจึงไม่เป็นโมฆะ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1, 2 ทำละเมิดนอกเหนือข้อตกลงจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น จำเลยที่ 3, 4 มิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share