แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มาตรา 4 คำว่าเพลงดนตรีย่อมหมายถึงทำนองเพลง โดยมีคำร้องหรือเนื้อร้องหรือไม่ก็ได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้ประพันธ์ทำนองบุคคลอื่นประพันธ์เนื้อร้องได้โอนลิขสิทธิ์ในฐานะผู้ประพันธ์เนื้อร้องให้โจทก์โจทก์จึงมีลิขสิทธิ์ในเพลงดนตรีทั้งเนื้อร้องและทำนอง มีสิทธิห้ามไม่ให้ผู้อื่นเล่นเพลงดนตรีนั้นแสดงต่อประชาชนและมีสิทธิห้ามไม่ให้ผู้อื่นทำสำเนาจำลองโน้ตหรือเนื้อร้องออกจำหน่ายเมื่อจำเลยได้นำเนื้อร้องไปพิมพ์จำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาต ย่อมละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และถ้าพิมพ์โน้ตออกจำหน่าย ก็จะเป็นละเมิดลิขสิทธิ์ในโน้ตเพิ่มอีกโสดหนึ่ง
การบรรยายฟ้อง โจทก์ไม่จำต้องบรรยายโดยพิมพ์โน้ตดนตรี มาในคำฟ้องด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประพันธ์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว ซึ่งทำนองเพลง 69 เพลง จำเลยเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ “มิตรหรรษา” ได้พิมพ์หนังสือเพลงซึ่งมีเพลงของโจทก์เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพื่อขายหรือให้เช่าหรือแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปเพื่อการค้ารวม 9 ชนิด รวม 2,704 เล่ม เป็นเงิน 10,490 บาท โดยมิได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ห้ามมิให้จำเลยนำบทเพลงไปจัดพิมพ์เพื่อจำหน่ายต่อประชาชนอีกต่อไป ให้พิพากษาว่าหนังสือเพลงทั้ง 9 ชนิด รวม 2,704 เล่มเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยคืนให้โจทก์ ถ้าจำเลยคืนไม่ได้ขอให้จำเลยใช้เงิน 10,490 บาท ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 30,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยพิมพ์หนังสือเพลงรวม 9 ชนิดเพื่อขายจริงฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยเป็นผู้มีสิทธิโดยซื้อจากผู้ประพันธ์โจทก์มิได้ประพันธ์โจทก์สร้างสัญญาเท็จขึ้นเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์
ในวันชี้สองสถาน ทนายโจทก์แถลงว่า โจทก์ไม่ได้ประพันธ์เนื้อร้องเองโจทก์ได้รับซื้อหรือรับโอนเนื้อร้องมาจากผู้ประพันธ์และโจทก์มาประพันธ์ทำนองเพลงขึ้นทั้ง 69 เพลงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ได้รับโอนสิทธิเนื้อร้องจากผู้ประพันธ์ โจทก์ย่อมได้ลิขสิทธิในเนื้อร้อง จำเลยพิมพ์ขึ้นเพื่อขายโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ควรได้ค่าเสียหายจากรายได้หรือผลกำไรที่จำเลยจำหน่ายหนังสือเนื้อร้องของโจทก์ โจทก์เป็นเจ้าของวงดนตรี “สุนทราภรณ์” ซึ่งมีชื่อเสียงควรให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 5,000 บาท จึงพิพากษาห้ามมิให้จำเลยนำเนื้อร้องรายพิพาทไปจัดการพิมพ์เพื่อจำหน่ายซ้ำต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 5,000 บาท ให้แก่โจทก์
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรได้ 30,000 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องชดใช้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 438 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 30,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมพ.ศ. 2474 มาตรา 4 ได้บัญญัติไว้ว่า วรรณกรรมและศิลปกรรมรวมถึงเพลงดนตรีมีคำร้องหรือไม่มี ฉะนั้น คำว่าเพลงดนตรี ย่อมหมายถึงทำนองเพลงโดยมีคำร้องหรือเนื้อร้องหรือไม่ก็ได้เมื่อโจทก์เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงและบุคคลอื่นเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง แต่บุคคลดังกล่าวได้โอนลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องให้โจทก์แล้วโจทก์จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในเพลงดนตรีรวมทั้งเนื้อร้องรายพิพาทด้วยแต่ผู้เดียว โจทก์ย่อมมีสิทธิ 2 ประการคือ มีสิทธิห้ามไม่ให้ผู้อื่นเล่นเพลงดนตรีของโจทก์ต่อประชาชนและมีสิทธิห้ามไม่ให้ผู้อื่นนำสำเนาจำลองโน๊ตดนตรีหรือเนื้อร้องออกจำหน่าย สำหรับคดีนี้จำเลยได้นำเนื้อร้องที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ไปพิมพ์จำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมละเมิดสิทธิของโจทก์แล้วโดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์โน๊ตดนตรีด้วย เพราะถ้าพิมพ์โน๊ตดนตรีของโจทก์ออกจำหน่ายด้วยแล้ว ก็จะเป็นละเมิดลิขสิทธิ์ในโน๊ตดนตรีเพิ่มขึ้นอีกโสดหนึ่ง และเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ว่า โจทก์เป็นผู้ประพันธ์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งทำนองเพลง และในข้อ 3 ได้บรรยายว่าจำเลยได้พิมพ์หนังสือเพลง ซึ่งมีเพลงของโจทก์เป็นผู้ประพันธ์ทำนอง หนังสือเพลงที่พนักงานสอบสวนยึดมาได้ มีเพลงที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย ย่อมเข้าใจข้อหาของโจทก์ทั้งหมดว่า โจทก์มีลิขสิทธิ์ในเพลงดนตรีหรือทำนองเพลงรวมทั้งเนื้อร้องด้วย จำเลยก็ให้การรับว่า จำเลยได้พิมพ์เนื้อร้องรายพิพาทจำหน่ายจริง จำเลยไม่หลงข้อต่อสู้อย่างไร และการที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ในเพลงดนตรีหรือทำนองเพลงรวมทั้งเนื้อร้องด้วยโจทก์จะทำเพลงดนตรีหรือทำนองเพลงเป็นโน๊ตหรือรูปร่างอย่างไรไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ และโจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องโดยพิมพ์โน๊ตดนตรีมาในคำฟ้องด้วย ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม และเมื่อฟ้องของโจทก์หมายถึงเพลงดนตรีหรือทำนองเพลงรวมทั้งเนื้อร้องด้วยการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในเนื้อร้องอันเป็นส่วนหนึ่งของเพลงดนตรีหรือทำนองเพลง จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
ปัญหาที่ว่าโจทก์เสียหายเท่าใด โจทก์นำสืบว่า วันที่ 25 ธันวาคม 2504 โจทก์ได้ทำสัญญาขายเนื้อร้อง 146 เพลง รวมทั้งเนื้อร้องรายพิพาท 69 เพลงด้วยให้นายจรรยาเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท นายจรรยาได้วางมัดจำไว้ 5,000 บาท วันที่ 28 สิงหาคม 2505 นายจรรยาได้บอกเลิกสัญญาเพราะจำเลยได้พิมพ์เนื้อร้องของโจทก์ออกจำหน่ายเสียก่อน โจทก์จึงได้คืนเงินมัดจำให้นายจรรยาไป ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์นำสืบดังกล่าวหรือไม่ก็ตามก็ปรากฏว่าใน พ.ศ. 2505 ห้างหุ้นส่วนจำกัด บำรุงสาส์นได้พิมพ์เนื้อร้องของโจทก์รวมทั้งเนื้อร้องรายพิพาทด้วยโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์โจทก์จึงมิได้เสียหายเต็มจำนวนเงิน 30,000 บาท อย่างไรก็ดีหนังสือที่ฝ่ายโจทก์จัดพิมพ์จำหน่าย ๆ เล่มละ 30 บาท จำเลยจัดพิมพ์จำหน่ายเล่มละ 2 บาท 5 บาท และ 6 บาท โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ย่อมเสียหาย โจทก์เป็นเจ้าของวงดนตรี “สุนทราภรณ์” ที่มีชื่อเสียง จึงกำหนดให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน 10,000 บาท